กลุ่มผู้ประท้วงจำนวนมากรวมตัวจุดไฟเผาผ้าคลุมศีรษะ รวมทั้งเดินขบวนและขว้างปาก้อนหินในหลายเมืองทางตะวันตกของอิหร่าน เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจ
หลังจากมาชา อามีนี หญิงชาวอิหร่านอายุ 22 ปี ซึ่งรักษาตัวในห้องผู้ป่วยวิกฤต 3 วัน เสียชีวิตลงเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (16 ก.ย.2565) หลังจากถูกตำรวจศีลธรรมควบคุมตัวเมื่อสัปดาห์ก่อน โทษฐานไม่สวมฮิญาบซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎการแต่งกายตามหลักศาสนา
ขณะที่อีกเมืองหนึ่งจากตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเตหะรานไปประมาณ 700 กม.กลุ่มผู้ประท้วงจุดไฟเผารถตำรวจกลางถนนเพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจเช่นเดียวกัน การประท้วงเช่นนี้ยังพบเห็นได้ในอีกหลายเมืองของอิหร่านและยืดเยื้อเข้าสู่วันที่ 7 แล้ว
กลุ่มสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุประท้วงทั่วประเทศนี้อย่างน้อย 31 คน โดยมีการประท้วงใน 80 เมือง
ขณะที่สถานีโทรทัศน์ของทางการอิหร่านรายงานจำนวนผู้เสียชีวิต 17 คน ส่วนสำนักข่าวเอพีรายงานอยู่ที่ 9 คน ซึ่งตัวเลขที่ไม่ตรงกันอาจขึ้นกับการนับรวมเจ้าหน้าที่หรือไม่
อามินีเดินทางมายังเมืองหลวงเมื่อวันที่ 13 ก.ย.ก่อนเกิดเหตุดังกล่าว โดยมีรายงานว่า เธอถูกตำรวจใช้กระบองตีที่ศีรษะและจับศีรษะของเธอกระแทกเข้ากับยานพาหนะ
แต่ตำรวจปฏิเสธ พร้อมกับอ้างว่า เธอมีภาวะหัวใจล้มเหลวและไม่ได้ถูกทารุณกรรมใด ๆ ซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลที่ได้จากครอบครัว ซึ่งยืนยันว่า เธอไม่มีประวัติเป็นโรคหัวใจแต่อย่างใด
นอกจากนี้ พ่อของอามินียังเปิดเผยว่า เขาไม่ได้รับอนุญาตให้เห็นร่างของลูกสาวทั้งหมด โดยศพถูกห่อไว้ก่อนที่จะฝังซึ่งเขามองเห็นเพียงใบหน้าและเท้าของเธอเท่านั้นและยังเห็นรอยฟกช้ำที่เท้าของเธอ
ขณะที่ประธานาธิบดีของอิหร่าน ระบุเกี่ยวกับการประท้วงที่เกิดขึ้นทั่วประเทศว่า ทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออก แต่การกระทำเช่นนี้เป็นการก่อความวุ่นวายและไม่สามารถยอมรับได้
ส่วนเว็บไซต์ข่าวอิหร่านรายงานว่า หน่วยงานด้านข่าวกรองของอิหร่าน พยายามที่จะหยุดความเคลื่อนไหวของการประท้วง โดยระบุว่า การเข้าร่วมการประท้วงนั้นผิดกฎหมายและผู้ที่เข้าร่วมจะถูกดำเนินคดี
ด้านกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน เรียกร้องให้ศาลยุติธรรมดำเนินคดีกับบรรดาผู้ที่เผยแพร่ข่าวเท็จและข่าวลือจนทำให้เกิดการประท้วงทั่วประเทศ
ขณะที่สถานการณ์การประท้วงยังเกิดขึ้นอีกหลายที่นอกอิหร่าน โดยบริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตอิหร่านในกรุงเอเธนส์ของกรีซ กลุ่มผู้ประท้วงมีการเผชิญหน้ากับตำรวจที่มาดูแลความสงบในพื้นที่ ซึ่งกลุ่มผู้ประท้วงต่างตะโกนและถือป้ายข้อความต่าง ๆ เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจอย่างมาก
เช่นเดียวกับที่กรุงอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ ผู้ประท้วงหลายสิบคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอิหร่านที่อาศัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์ รวมตัวกันประท้วงเพื่อแสดงถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับผู้เสียชีวิต
ส่วนที่เยอรมนี ชาวเคิร์ด ชาวอิหร่านและชาวเยอรมันมากกว่า 500 คน รวมตัวกันในกรุงเบอร์ลิน และมีการตัดผมประท้วง เพื่อแสดงสัญลักษณ์การต่อต้าน พร้อมส่งเสียงเรียกร้องอิสรภาพให้ผู้หญิง