ด้วยความสวยงาม ปราดเปรียว และท่วงท่าที่พลิ้วไหว รวมถึงการแสดงออกซึ่งอารมณ์เมื่อถูกกระตุ้น สร้างเสน่ห์ให้ปลากัดเป็นที่ชื่นชอบของใครหลายคน และเชื่อว่าครั้งหนึ่งหลายคนคงเคยมีโอกาสได้เลี้ยงมาแล้ว ปลากัดจึงมักจะเป็นปลาตัวแรกของใครหลายคน วันนี้ จะพาไปย้อนความหลังกับปลากัดในขวดโหลที่หลายคนเคยเลี้ยง ที่ “พิพิธภัณฑ์ปลากัดไทย”
ไทยพีบีเอสออนไลน์พูดคุยกับ มนต์ชัย สันติอุดมมงคล (พี่แว่น) ผู้ดูแล “ปลากัด” ของพิพิธภัณฑ์ปลากัดไทย จ.สมุทรปราการ พิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้ หนึ่งในหมุดหมายของนักท่องเที่ยว ที่ใครไปบางกระเจ้าก็ต้องแวะ
จากแค่เลี้ยงเล่น ๆ สู่นักเพาะพันธุ์ปลากัดสวยงาม
แทบทุกวัน มนต์ชัยใช้เวลาหลังเสร็จจากการขายของย่านคลองเตย เดินทางด้วยเรือข้ามฝากมายังพิพิธภัณฑ์ปลากัดไทย เพื่อดูแลปลากัดนับพันตัวในพิพิธภัณฑ์ ด้วยความชื่นชอบทำให้มนต์ชัยคลุกคลี อยู่กับปลากัดมาตลอด 10 ปี จากแค่เลี้ยงไว้กินลูกน้ำยุงลาย กลายเป็นความชอบที่ถอนตัวไม่ขึ้น และเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาได้มาทำงานเป็นผู้ดูแลปลากัด และเพาะเลี้ยงปลากัดสวยงาม
ปัจจุบันมนต์ชัยเพาะเลี้ยงปลากัดในหลากหลายสายพันธุ์ ผลงานถูกโชว์ที่พิพิธภัณฑ์ปลากัดไทย ซึ่งเส้นทางไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้ทั้งความอดทน ลองผิดลองถูก สะสมประสบการณ์ อันยาวนานในการทดลองเพาะพันธุ์ปลากัดให้แปลกตา สวยงาม สีสันโดดเด่น จนวันนี้เรียกได้ว่า มีปลากัดที่ถูกเพาะพันธุ์และเลี้ยงผ่านมือเขานับหมื่นตัว
ด้วยสัญชาตญาณนักสู้ บวกกับสีสันที่โดดเด่นสะดุดตา ความพลิ้วไหว ความดุดัน เป็นเสน่ห์ของปลากัด
มนต์ชัย กล่าวว่า ปลากัดมีเรื่องราวผูกพันกับคนไทยมานานเหมือนกับไก่ชน สมัยก่อนนิยมเลี้ยงมากัดกัน เป็นกิจกรรมยามว่างของเด็กผู้ชายที่ชอบไปช้อนปลากัดตามแหล่งน้ำ ชายทุ่ง นำมาเลี้ยงไว้ในขวดวางเรียงตามบ้านเป็นที่ชินตาของคนที่พบเห็น ได้นั่งมองปลาแหวกว่ายในขวด ถือเป็นความสุขแล้ว โดยปลากัดตัวแรก ๆ ที่เลี้ยงเป็นปลากัดป่า ปลากัดหม้อ
ปัจจุบันคนนิยมเลี้ยงปลากัดเป็นปลาสวยงาม มีการเพาะเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าใครวัยใดก็เลี้ยงปลากัดได้ นั้นเพราะเลี้ยงง่าย ใช้พื้นที่ไม่มาก เหมาะกับคนที่มีพื้นที่น้อย โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในเมือง เลี้ยงในบ้านในห้องสร้างสีสันได้อีกแบบ เชื่อว่าหากได้เริ่มเลี้ยงจะต้องสนุกตั้งแต่เลือกปลากัดสีที่โดนใจแหวกว่ายในโหลสวย ๆ
ขณะที่ปลากัดยังได้รับความนิยมเลี้ยง เพราะมีการจำหน่ายทั้งหน้าร้านและออนไลน์ โดยเฉพาะปลากัดลวดลาย สีสันแปลกใหม่ ย่อมมีราคาที่สูงขึ้นตามมา เริ่มต้นตั้งแต่หลักร้อยไปถึงหลักหมื่น
มนต์ชัย กล่าวว่า ปลากกัดในพิพิธภัณฑ์ปลากัดไทย ขณะนี้มีปลากัดอยู่หลายสายพัยธุ์ยกตัวอย่าง แต่หากเป็นปลากัดแฟนซีจะยิบย่อยลงไปอีก อย่างพวกปลากัดซุปเปอร์แบล็ค และปลากัดซุปเปอร์ไวท์ โดยหลายปีก่อนเริ่มทดลองเพาะพันธุ์ปากกัดจนพันธุกรรมเริ่มนิ่ง เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ผลิตปลากัดสวยงามในพิพิธภัณฑ์ฯ ได้จำนานมาก
มนต์ชัย ยังพาชมใต้ถุนอาคารซึ่งมีตู้ปลาแสดงพันธุ์ปลาน้ำจืด และ “ปลากัด” ซึ่งมีทั้งปลากัดป่า และปลากัดหม้อสายพันธุ์ดั้งเดิมที่เขาดูแลอยู่ คอยบอกเล่าเรื่องราวให้คนที่เข้ามาแวะเที่ยว ได้เรียนรู้
แม้สีสันไม่โดดเด่น ตัวเล็ก แต่ข้อดีคือกัดเก่งและปราดเปรียว รวมไปถึงการแสดงสายพันธุ์ปลากัดที่พัฒนาแล้ว แต่ละตัวมีเอกลักษณ์สีสันแตกต่างกัน เพิ่มความน่าสนใจให้แหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้ไม่น่าเบื่อ
อีกหนึ่งกิจกรรม "จับปลากัดมือเปล่า" เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ เด็ก ๆ ชื่นชอบและทดลองสัมผัสตัวปลากัด โดยนำมือเปล่าช้อนมากัดตัวเล็ก ๆ ในบ่อมาชื่นชมสีสันความสวยงามในช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนจะปล่อยปลาลงแหวกว่ายในน้ำ ซึ่งเขาต้องเน้นย้ำเด็ก ๆ ว่าจับเบา ๆ มือ หรืออย่ากำตัวปลา
นอกจากเดินพาชมพิพิธภัณฑ์ปลากัดในหลาย ๆ จุดแล้ว มนต์ชัย ยังโชว์และนำเสนอผลงานที่เขาภูมิใจในการเพาะพันธุ์สายพันธุ์ปลากัด ที่ทุกตัวล้วนมีเสน่ห์และเอกลักษณ์ที่แตกต่าง
โชว์ 5 สายพันธุ์ไปบางกระเจ้า ต้องแวะดูปลากัด
1. ปลากัดลายธงชาติ
2. ปลากัดพันธุ์ฮาฟมูนโค่ย
3. ปลากกัดหูช้างฮาฟมูน
4. ปลากัดคราวเทลหรือหางมงกฎ
5. ปลากัดโค่ย
มนต์ชัย กล่าวว่า เริ่มหลงเสน่ห์ปลากัดมาตั้งแต่เด็ก ด้วยแต่ละตัวแต่ละสายพันธุ์มีเอกลักษณ์ที่แตกต่าง คนที่เพาะพันธุ์จึงคาดหวังที่จะพัฒนาปลากัดของตนเองให้สวยงามและโดดเด่น เขาเคยคิดจะเพาะขายเป็นอาชีพเสริม แต่ก็เกิดความเสียดาย ช่วงแรกเลี้ยงไว้เกือบทุกตัว แต่พอจำนวนมากขึ้นจึงต้องขายและแจก
รู้สึกภูมิใจและสนุกกับสิ่งที่เขาทำ ได้เพาะปลากัดข้ามสายพันธุ์ ยกตัวอย่าง พัฒนาให้ปลากัดมีครีบหูที่มีขนาดใหญ่ เรียกว่า ปลากัดหูช้าง ในส่วนของสีสันก็ได้พัฒนาให้มีความหลากหลาย ทั้งสีและลวดลลาย เช่น สีขาว แดง น้ำเงิน หรือพัฒนาให้เป็นสีผสม และสีลวดลายต่าง ๆ เช่น ปลากัดแฟนซี ซึ่งตรงนี้ต้องใช้ความพยายามและความอดทน
อนาคตอยากมีปลากัดที่แปลกตา และโด่นเด่น ตั้งเป้าให้ได้ ปลากัดหูช้าง ที่หูใหญ่กว่าเดิม
เพาะปลากัดด้วยตัวเองก็ทำได้
มนต์ชัย กล่าวว่า การเพาะพันธุ์ไม่ยาก เพียงเตรียมอุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็นกะละมัง ตู้ปลา ใช้เป็นพื้นที่บ่อเพาะสำหรับปลาผสมพันธุ์และวางไข่ แต่ที่ยากตรงขั้นตอนการอนุบาลจากตัวเล็กให้รอดได้ทุกตัว
มือใหม่เพาะได้เป็นร้อยตัว แต่ 2 วัน ทำไมหายไปหมด คำถามจากหลายคนที่แวะเวียนมาชมปลากัดในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมนต์ชัย อธิบายว่า บางคนใช้ไข่ต้มสุกแล้วบดให้ปลากัดกิน แต่ปลากินไม่หมดแล้วน้ำเน่า ไม่ใช่ออกซิเจนอากาศในน้ำไม่มี ปลาก็ร่วงง่าย
มนต์ชัย กล่าวว่า ปลาที่ทำการเพาะพันธุ์ควรมีอายุที่เหมาะสม โดยปลากัดจะให้ไข่คครั้งละประมาณ 500-1,000 ฟอง การคัดเลือกปลาตัวผู้ต้องมีความแข็งแรง สีสด สวย ปราดเปรียว เมื่อพร้อมผสมพันธุ์จะสร้าง “หวอด” พ่นฟองอากาศที่มีน้ำเมือกจากปาก ส่วนตัวเมียสังเกตบริเวณท้องมีลักษณะอูมเป่ง ใต้ท้องมีตุ่มสีขาวชัดเจน
เริ่มต้นจากการเตรียมน้ำผสมน้ำหมัก “ใบหูกวาง” นำขวดพลาสติก หรือขวดแก้วทรงกระบอกมาใส่ไว้กลางกะละมัง เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับตัวเมีย ส่วนตัวผู้จะใส่ไว้ให้ว่ายอยู่ด้านนอก วางใบไม้วางลงไปบนผิวน้ำ ปิดฝากะละมัง เพื่อไม่ให้แสงส่อง ให้ตัวผู้มาก่อหวอด ทิ้งไว้ประมาณ 2 วัน จึงดึงแก้วออก
ประมาณ 5-6 โมงเย็น ปล่อยปลาให้รัดกัน โดยนำที่กั้นออก เปิดเช็กเป็นระยะว่าตัวเมียปล่อยไข่ไว้ที่หวอดแล้วหรือยัง ขั้นตอนนี้อาจใช้เวลากันข้ามวัน แล้วจึงไปตักตัวเมียออก
จากนั้นตัวผู้จะรับหน้าที่เลี้ยงลูก ปล่อยให้พ่อปลาดูแลลูกสัก 2-3 วัน จนแน่ใจว่าลูกปลาแข็งแรงแล้ว ช้อนพ่อปลากลับไปที่โหลดังเดิม เลี้ยงลูกปลาในกะละมังใบใหญ่ต่อ ขณะที่ ปลากัดมีนิสัยชอบต่อสู้ เมื่ออายุประมาณ 1-2 เดือน จึงควรแยกเลี้ยงในภาชนะเพียง 1 ตัว
ปลากัดก็จะกัดปลาตัวอื่นด้วยนิสัยที่ดุร้ายและหวงถิ่น แม้ปลากัดที่เกิดจากท้องแม่ปลาเดียวกัน ก็ควรแยกเลี้ยง
มือใหม่หัดเลี้ยง ปลากัดต้องรู้
มนต์ชัย ยังได้แนะนำมือใหม่ที่กำลังมองหาปลากัดมาเลี้ยงสักตัวว่า ปลากัดที่ดีและแข็งแรง จะไม่มีแผลตามตัว ครีบหางจะไม่ห่อ ไม่เหี่ยว ว่ายน้ำอวดโฉมไปมา หากสนใจแนะนำให้ดูความแข็งแรงก่อนตัดสินใจซื้อมาเลี้ยง
ผู้เลี้ยงมือใหม่จะเริ่มเลี้ยงปลากัดสีใดพันธุ์ใดก็แล้วแต่ เลี้ยงให้รู้ก่อนว่าเราควรจะเลี้ยงอย่างไร ควรดูแลแบบไหน หากเลี้ยงไปแล้วชอบจะไม่ซื้อมาเลี้ยงเพิ่มก็ได้ บางคนก็เลี้ยงไว้หลายตัวใส่ขวด ให้ปลาได้แหวกว่ายโชว์ มองแล้วก็เพลิน
เตรียมภาชนะและน้ำสำหรับการเพาะ เริ่มแรกนำของใช้ภายในบ้าน เช่น ขัน เตรียมน้ำสำหรับการเพาะ หากเป็นน้ำประปาต้องรองน้ำทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน ใส่ลงในขันประมาณ ½ ของขัน การไม่ใส่น้ำเยอะและการใช้ภาชนะขนาดเล็ก จะช่วยร่นระยะเวลาให้พ่อปลาเก็บไข่ไปไว้ที่หวอดสั้นลง ให้ลูกปลาที่เกิดใหม่ไม่จมน้ำลึก
สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ “ใบหูกวาง” หรือ “น้ำหมักใบหูกวาง” ซึ่งมีสารชนิดหนึ่งทำให้สภาพของน้ำดี ปลาไม่เป็นโรค
สำหรับคำแนะนำสำหรับมือใหม่เลี้ยงปลากัดให้อยู่กับเราไปนาน ๆ มนต์ชัย แนะนำเรื่องอาหารปลากัด าจะให้ไรทะเล ไรเล็ก ไรแดง และหากปลาเดือนกว่า ๆ มีการให้เต้าหู้ไข่ด้วย เต้าหลอด เป็นอาหารเสริมโตวัย
ส่วนโรคต่าง ๆ ที่ผู้เลี้ยงมือใหม่อาจเจอ เช่น ไฟลามทุ่ง และท้องมาน เกิดจากให้อาหารเยอะไป ไม่ต้องตกใจไป หากพบว่าปลากัดป่วย น้ำใบหูกวางช่วยชีวิตปลากัดได้
มนต์ชัย กล่าวว่า ต้องยอมรับสมัยนี้เด็กอยู่กับมือถือ หากผู้ปกครองไม่คอยซับพอร์ตเขาก็จะอยู่กับมือถืออย่างเดียว ดังนั้นหากผู้ปกครองมีเวลาว่าง พามาเที่ยวบ้าง เพื่อความสนใจของลูกจะได้เปลี่ยนจากการเล่นนแต่มือถือ หันมาเลี้ยงปลา ได้ทำกิจกรรม ให้อาหารปลา ให้เขาได้เรียนรู้ได้ศึกษาการเลี้ยงได้ด้วย
วันหยุดนี้ อย่าพลาดไปปั่นจักรยานเที่ยวบางกระเจ้า จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ และอย่าลืมไปชมปลากัดสีสวยงามกันที่ พิพิธภัณฑ์ปลากัดไทย แห่งนี้