ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จับตา! ยาน DART พุ่งชนดาวเคราะห์น้อย ภารกิจซ้อมปกป้องโลก 27 ก.ย.นี้

Logo Thai PBS
จับตา! ยาน DART พุ่งชนดาวเคราะห์น้อย ภารกิจซ้อมปกป้องโลก 27 ก.ย.นี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
จับตา! ยาน DART สำรวจดาวเคราะห์น้อย มีกำหนดพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอส (Dimorphos) ในวันที่ 27 ก.ย.2565 เวลา 06.14 น. (ตามเวลาประเทศไทย) หลังส่งขึ้นสู่อวกาศไปเมื่อวันที่ 24 พ.ย.2564 ที่ผ่านมา ในภารกิจซ้อมปกป้องโลก

วันนี้ (26 ก.ย.2565) เพจเฟซบุ๊ก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. เผยแพร่ข้อความระบุว่า ภารกิจ DART ยานสำรวจดาวเคราะห์น้อย มีกำหนดพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอส (Dimorphos) ในวันที่ 27 ก.ย.2565 เวลา 06.14 น. (ตามเวลาประเทศไทย) หลังส่งขึ้นสู่อวกาศไปเมื่อวันที่ 24 พ.ย.2564 ที่ผ่านมา

ภารกิจ DART ย่อมากจาก Double Asteroid Redirection Test มีวัตถุประสงค์หลักคือ การพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็ก นับเป็นหนึ่งในไม่กี่ภารกิจสำรวจอวกาศที่กำหนดให้ยานพุ่งชนวัตถุเป้าหมาย เพื่อศึกษาถึงการเบี่ยงวิถีของดาวเคราะห์น้อยที่เสี่ยงต่อการพุ่งชนโลกในอนาคต

นักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจพบและศึกษาวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยเกือบ 30,000 ดวงในระบบสุริยะที่มีวงโคจรใกล้โลก ซึ่งดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรตัดผ่านวงโคจรโลก ก็จะมีความเสี่ยงต่อการพุ่งชนโลกมากขึ้น นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญจึงต้องการเตรียมพร้อมตั้งรับความเสี่ยงที่ดาวเคราะห์น้อยจะพุ่งชนโลกในอนาคต

ตามทฤษฎีแล้ว หากนักวิทยาศาสตร์ตรวจพบดาวเคราะห์น้อยที่มีวิถีการโคจรพุ่งชนโลก องค์การอวกาศจะส่งยานสำหรับพุ่งชน (Impactor) เพื่อเบี่ยงวิถีของดาวเคราะห์น้อยให้พ้นจากโลก แต่นักวิทยาศาสตร์ไม่ต้องการให้แนวคิดนี้เป็นเพียงทฤษฎีเท่านั้น ต้องมีการทดลองจริงเพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคต

จากเป้าหมายข้างต้น จึงมีการริเริ่มภารกิจ DART ขึ้นมา โดยยานจะพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กชื่อ “ไดมอร์ฟอส” (Dimorphos) ที่โคจรรอบดาวเคราะห์น้อยชื่อ “ดีดิมอส” (Didymos) ซึ่งดาวเคราะห์น้อยทั้งสองดวงไม่มีความเสี่ยงที่จะพุ่งชนโลก และการพุ่งชนของยาน DART จะไม่เพิ่มความเสี่ยงแต่อย่างใด นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าการพุ่งชนของยาน DART จะส่งผลต่อการโคจรของไดมอร์ฟอส

ขณะนี้ไดมอร์ฟอสกำลังโคจรรอบดีดิมอสด้วยคาบ 11 ชั่วโมง 55 นาที โดยนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า หลังการพุ่งชนของ DART จะทำให้คาบการโคจรสั้นลงประมาณ 10 นาที ทั้งนี้ การสังเกตการณ์ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์ เพื่อเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงของคาบการโคจรจากทางทฤษฎี ซึ่งจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์มีวิธีการที่มีประสิทธิภาพ และพร้อมรับมือกับดาวเคราะห์น้อยที่อาจพุ่งชนโลกในอนาคต

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่ยาน DART จะพลาดเป้าในการพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอสก็มีความเป็นไปได้ (แม้จะน้อยมาก) และหากเกิดสถานการณ์ดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญจะนำข้อมูลและประสบการณ์จากยาน DART ในฐานะภารกิจทดสอบ มาเป็นรากฐานในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศเพื่อเบี่ยงวิถีของดาวเคราะห์น้อยต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง