ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จบภารกิจ! ยานอวกาศ DART พุ่งชนดาวเคราะห์น้อย Dimorphos

Logo Thai PBS
จบภารกิจ! ยานอวกาศ DART พุ่งชนดาวเคราะห์น้อย Dimorphos
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปิดจ็อบ! ภารกิจซ้อมปกป้องโลกสำเร็จ ยานอวกาศ DART ได้พุ่งชนเข้ากับดาวเคราะห์น้อย Dimorphos ด้วยความเร็ว 22,000 กม.ต่อชั่วโมง ถือเป็นภารกิจแรกในประวัติศาสตร์รับมืออุกาบาตนอกโลก

วันนี้ (27 ก.ย.2565) เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ รายงานว่า เมื่อเวลา 06:16 น. ของเช้าวันนี้ ตามเวลาประเทศไทย ยานอวกาศ DART ได้พุ่งชนเข้ากับดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอส (Dimorphos) ด้วยความเร็วกว่า 22,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ทำให้ยานอวกาศถูกทำลายไปโดยสิ้นเชิง และสามารถส่งข้อมูลภาพถ่ายในเสี้ยววินาทีสุดท้ายกลับมาได้สำเร็จ นับเป็นการสิ้นสุดภารกิจของ DART อย่างเสร็จสมบูรณ์

ดร.มติพล ตั้งมติธรรม นักวิชาการดาราศาสตร์ ระบุว่า ภาพที่เห็นนี้ เป็นซีรีส์ภาพถ่ายสุดท้ายของยานอวกาศ DART หรือ Double Asteroid Redirection Test ในเสี้ยววินาทีสุดท้ายก่อนที่จะชนเข้ากับพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อย Dimorphos และตัวยานถูกทำลายไปโดยสิ้นเชิงในระหว่างการส่งข้อมูลภาพสุดท้ายกลับมาได้สำเร็จ

แต่การชนกันนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าตกใจ ในทางตรงกันข้าม กลับเป็นเรื่องที่น่ายินดีของเหล่าวิศวกร และนักวิทยาศาสตร์มากมายที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ เนื่องจากเป็นการชนกันตามที่วางแผนเอาไว้ และนับเป็นการสิ้นสุดภารกิจของยาน DART และจุดเริ่มต้นอีกมากของการศึกษาที่จะตามมาในภายหลัง

 

ปิดจ๊อบ ภารกิจซ้อมปกป้องโลก

ภารกิจ DART นี้ เป็นภารกิจที่ออกแบบมา เพื่อศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการป้องกันภัยอันตรายจากดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก เช่นเดียวกับที่เราอาจจะคุ้นเคยในภาพยนตร์ดัง ๆ มากมาย เช่น Armageddon, Deep Impact, หรือ Don’t Look Up ที่บ่งบอกถึงความเป็นไปได้ที่วันหนึ่งอาจจะมีอุกกาบาตขนาดใหญ่มาพุ่งชนโลก

ในความเป็นจริงนั้น เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าอุกกาบาตนั้นสามารถพุ่งเข้าชนกับโลกได้ ในแต่ละปีนั้นมีอุกกาบาตที่ตกลงมาถึงพื้นโลกด้วยกันกว่า 17,000 ดวง แต่อุกกาบาตส่วนมากนั้นเล็กเกินกว่าที่จะเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตใดได้ และส่วนมากมักจะตกลงในมหาสมุทร หรือพื้นที่อันห่างไกลที่ไม่มีคนอาศัยอยู่

อย่างไรก็ตาม นาน ๆ ครั้งก็จะมีอุกกาบาตที่มีขนาดใหญ่กว่านั้น ที่อาจจะสามารถทำอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกได้เป็นวงกว้าง เช่นเดียวกับเมื่อ 66 ล้านปีที่แล้ว ที่อุกกาบาตขนาด 10-15 กม.พุ่งชนเข้ากับคาบสมุทรยูคาทาน ในประเทศเม็กซิโกปัจจุบัน ก่อให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ ที่ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไป และเปลี่ยนโฉมหน้าของสิ่งมีชีวิตบนโลกไปโดยตลอดกาล

ไม่ช้าก็เร็ว อาจจะมีอุกกาบาตอีกลูกหนึ่ง ที่กำลังจะพุ่งมาชนกับโลกของเราในอนาคต ทุกวันนี้เรามีโครงการและกล้องโทรทรรศน์มากมาย ที่สังเกตการณ์และคอยติดตามหาอุกกาบาตที่อาจจะเป็นภัยต่อโลกได้ในอนาคต สามารถช่วยค้นหาอุกกาบาตขนาดใหญ่ที่อาจจะ “ทำลายล้างโลก” ได้เป็นอย่างดี และค่อนข้างแน่ใจว่าเราจะปลอดภัยจากอันตรายดังกล่าวไปอีกนาน

และยิ่งเทคโนโลยีการสังเกตการณ์ที่ดีขึ้น เราอาจจะสามารถพบกับอุกกาบาตขนาดเล็กกว่าที่อาจจะชนกับโลก และทำความเสียหายในระดับที่เล็กกว่าได้ในอนาคตอันใกล้

แนวคิดหนึ่งที่จะป้องกันภัยจากอุกกาบาตเหล่านี้ ก็คือการส่งยานอวกาศเข้าไปพุ่งเช้าชนกับดาวเคราะห์น้อย เพื่อเปลี่ยนวิถีการโคจรของมัน และภารกิจหลักของ DART ก็คือการสำรวจความเป็นไปได้นี้

โดยการนำยานอวกาศพุ่งชนเข้ากับดวงจันทร์บริวาร Dimorphos ที่โคจรรอบ ๆ ดาวเคราะห์น้อย Didymos ซึ่งหากภารกิจสำเร็จไปได้ด้วยดี

อ่านข่าวเพิ่ม จับตา! ยาน DART พุ่งชนดาวเคราะห์น้อย ภารกิจซ้อมปกป้องโลก 27 ก.ย.นี้

ภาพ: NASA

ภาพ: NASA

ภาพ: NASA

ครั้งแรกในประวัติศาสตร์รับมืออุกาบาตนอกโลก

นักวิทยาศาสตร์จะสามารถสังเกตและวัดการเปลี่ยนแปลงวิถีการโคจรได้ จากคาบและรัศมีวงโคจรที่เปลี่ยนไปของดาวเคราะห์น้อยบริวารดวงนี้ เนื่องจากการชนกันนี้เป็นเพียงการเปลี่ยนวิถีวงโคจรของดาวบริวาร จึงไม่มีอันตรายใด ๆ ที่อาจจะเป็นภัยต่อโลกในอนาคตอย่างแน่นอน

ต่อจากนี้นักวิทยาศาสตร์จะคอยศึกษาผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการพุ่งชนกล้อง โทรทรรศน์ภาคพื้นโลกกว่า 40 กล้อง รวมทั้งกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลและเจมส์ เว็บบ์ จะคอยศึกษาวิถีวงโคจรที่เปลี่ยนไปของระบบดาวเคราะห์น้อยหลังจากการพุ่งชน

นอกจากนี้ยังมี LICIACube ยานอวกาศขนาดเล็กที่ถูกส่งขึ้นไปพร้อมกับ DART ที่จะคอยศึกษาฝุ่นที่อาจจะเกิดขึ้นจากการชนครั้งนี้

ภารกิจของ DART นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้มีการทดสอบระบบป้องกันภัยอันตรายจากอุกกาบาตนอกโลก ซึ่งภารกิจเช่นนี้จะช่วยให้เราสามารถเข้าใจระบบนำทาง ความท้าทายในการสร้างยานอวกาศที่จะไปพุ่งชน

พร้อมทั้งช่วยทดสอบ และยืนยันหลักการของระบบป้องกันภัยอันตรายจากนอกโลกในอนาคต หากวันหนึ่งข้างหน้าเราจะต้องป้องกันอันตรายจากนอกโลกจริง ภารกิจเช่นนี้จะเป็นภารกิจที่ช่วยเตรียมความพร้อมให้เราได้กับวันข้างหน้าที่เราหวังว่าจะไม่มีวันมาถึง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง