วันนี้ (28 ก.ย.2565) เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เหตุผลหลักมาจากสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดเงินเฟ้อ เงินจึงไหลกลับ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าและกดดันให้เงินสกุลอื่นๆ รวมถึงบาทไทยอ่อนค่าลง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เหนือความคาดหมายของนักวิเคราะห์
2 เดือนก่อนหน้านี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics รายงานว่า ไทยมีโอกาสเห็นบาทอ่อนทะลุ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาส 3 เพราะดอกเบี้ยโลกที่ปรับขึ้น และไทยยังขาดดุลบัญชีเดินสะพัด แต่จะพลิกกลับมาเป็น 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ช่วงปลายปี 2565
ธนาคารกสิกรไทย อธิบายให้เห็นภาพว่า การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ทุกๆ ร้อยละ 0.25 จะกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าประมาณ 38 สตางค์ แต่ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าจะเป็นระยะสั้น เนื่องจากปลายปียังมองว่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าในกรอบ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินว่า แนวโน้มเงินบาทมีโอกาสแตะ 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งคือ การเร่งขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐฯ และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐฯ ที่กว้างขึ้น
สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ มี 2 ทางเลือก คือ ค่อยๆ ขึ้นดอกเบี้ยที่ร้อยละ 0.25 แต่ต้องแลกด้วยตลาดเงินตลาดทุนผันผวนรุนแรง เงินไหลออกค่อนข้างมาก และอาจถูกโจมตีค่าเงิน หรือเก็งกำไรค่าเงิน
ส่วนอีกทางเลือก คือ การขึ้นดอกเบี้ยแรง หรือร้อยละ 0.50 ซึ่งจะป้องกันเงินเฟ้อ สกัดเงินไหลออกได้และรักษาเสถียรภาพเงินบาท แต่สิ่งที่ต้องแลกคือเศรษฐกิจอาจฟื้นตัวช้าลง
ขณะที่วันนี้ (28 ก.ย.) จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งคาดว่า จะมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 โดยกรรมการเสียงส่วนน้อยอาจสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยร้อยละ 0.50 อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่าจะต้องปรับขึ้น ซึ่งในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น กลุ่มหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือ คนเป็นหนี้
นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้ตลาดอยู่ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น แต่ไม่กระทบลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้
ตอนนี้ที่ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินของรัฐ ยังให้ความร่วมมือไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยทันที เพราะยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสม
สำหรับเงินบาทที่อ่อนค่า มีทั้งคนเสียประโยชน์และได้ประโยชน์ ซึ่งฝั่งผู้นำเข้าเสียประโยชน์อย่างแน่นอน แต่ฝั่งผู้ส่งออกอาจไม่ได้ประโยชน์ในระยะยาว หากค่าเงินอ่อนจนขาดเสถียรภาพ
ล่าสุด แบงก์ชาติออกบทความ "เงินบาทผันผวน แบงก์ชาติทำอะไร" เนื้อหาหลัก คือ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด แบงก์ชาติจะดูแลเมื่อเกิดความผันผวนสูงผิดปกติ ที่อาจส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการต้องเตรียมรับมือ ซึ่งในภาวะค่าเงินบาทที่มีโอกาสผันผวนอีกในอนาคต คำตอบหนีไม่พ้น "การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน" โดยที่ผ่านมา แบงก์ชาติได้ส่งเสริมความเข้าใจ การบริหารความเสี่ยงดังกล่าวและสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการต่างๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เอกชนชี้ "เงินบาทอ่อน" ไม่กระทบแข่งขัน แนะรับมือดอกเบี้ยขาขึ้น
เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 16 ปีที่ 37.37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ