เงินบาทอ่อนค่าแตะ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในวันนี้ (28 ก.ย.) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดเงินเฟ้อ จึงทำให้เงินไหลกลับ และทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่า กดดันให้เงินสกุลอื่นๆ อ่อนค่าลง รวมถึงเงินบาทของไทย
ในเวลาเดียวกัน เงินบาทที่อ่อนค่าทำให้มีทั้งคนได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ซึ่งข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า การแข็งค่าหรืออ่อนค่าของเงินบาท จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ส่งออก ผู้นำเข้า นักลงทุน และผู้ที่กู้เงินตราต่างประเทศ
ไทยพีบีเอสออนไลน์ รวบรวมข้อมูลจาก ธปท. เกี่ยวกับความแตกต่างระหว่าง "ค่าเงินบาทอ่อน" และ "ค่าเงินบาทแข็ง" รวมถึงผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จากสถานการณ์ค่าเงิน
ความต่าง "บาทอ่อน-บาทแข็ง"
"ค่าเงินบาทอ่อน" คือ การใช้เงินบาทมากขึ้น ในการแลกเงินสกุลอื่นในจำนวนเท่าเดิม
ใครได้ประโยชน์ ?
- ผู้ส่งออก ได้ประโยชน์จากราคาสินค้าที่ถูกกว่าคู่แข่ง ทำให้มีรายได้ในรูปของเงินบาทเพิ่มขึ้น
- คนทำงานต่างประเทศ นำรายได้ที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศ มาแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น
- ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่รับเงินสกุลต่างประเทศ นำรายได้มาแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น
ใครเสียประโยชน์ ?
- ผู้นำเข้า เสียประโยชน์จากราคาสินค้าต่างประเทศที่แพงขึ้น ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าสูงขึ้น
- ประชาชน ซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศแพงขึ้น
- ผู้ลงทุน นำเข้าสินค้าทุนแพงขึ้น เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ
- ผู้เป็นหนี้กับต่างประเทศ มีภาระหนี้เพิ่มขึ้น เพราะใช้เงินบาทมากขึ้นในการชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศ
"ค่าเงินบาทแข็ง" คือ การใช้เงินบาทน้อยลง ในการแลกเงินสกุลอื่นในจำนวนเท่ากัน
ใครได้ประโยชน์ ?
- ผู้นำเข้า ได้ประโยชน์จากราคาสินค้าต่างประเทศที่ถูกลง ช่วยลดต้นทุนการนำเข้าสินค้า
- ประชาชน ซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศได้ถูกลง
- ผู้ลงทุน นำเข้าสินค้าทุนได้ถูกลง
- ผู้เป็นหนี้กับต่างประเทศ มีภาระหนี้ลดลง เพราะใช้เงินบาทน้อยลงในการชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศ
ใครเสียประโยชน์ ?
- ผู้ส่งออก เสียประโยชน์จากราคาสินค้าที่แพงกว่าคู่แข่ง ทำให้มีรายได้ในรูปของเงินบาทลดลง
- คนทำงานต่างประเทศ นำรายได้ที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศ มาแลกเป็นเงินบาทได้น้อยลง
- ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่รับเงินสกุลต่างประเทศ นำรายได้มาแลกเป็นเงินบาทได้น้อยลง
"ผู้ประกอบการ" เตรียมตัวอย่างไร "รับมือเรื่องค่าเงิน"
ส่วนหนึ่งจากบทความ "เงินบาทผันผวน แบงก์ชาติทำอะไร" มีคำแนะนำให้ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมรับมือเรื่องค่าเงิน ในขณะที่ภาวะค่าเงินบาทมีโอกาสผันผวนอีกในอนาคต ตามสถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองของโลก
ปัจจุบันมีหลายเครื่องมือที่ช่วย "การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน" เช่น สัญญา forward จะช่วยให้ผู้ประกอบการไม่ต้องลุ้นว่า เมื่อแปลงรายได้หรือรายจ่ายสกุลเงินตราต่างประเทศเป็นบาทแล้ว จะได้เงินบาทเท่าไร เพราะได้จองราคาไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว หรือการทำ netting/matching รายได้รายจ่ายสกุลเงินตราต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการหักกลบรายรับรายจ่ายสกุลเงินตราต่างประเทศกันไป เป็นต้น
เครื่องมือเหล่านี้จะทำให้ผู้ประกอบการล็อกรายได้ รายจ่าย (ต้นทุน) ที่เป็นเงินบาทได้ จึงหมดห่วงที่จะต้องลุ้นว่า สุดท้ายรายได้รายจ่ายสกุลเงินตราต่างประเทศนั้นจะแปลงเป็นบาทได้เท่าไร และจะมีกำไรหรือขาดทุนเท่าไหร่ เพราะค่าเงินเป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดา การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจึงเป็นเสมือนวัคซีนที่จะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ SMEs เพราะความผันผวนของค่าเงินบาท อาจส่งผลกระเทือนต่อฐานะของธุรกิจได้ค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทสามารถเคลื่อนไหวไปตามแรงซื้อ แรงขาย หรือที่เรียกว่ากลไกตลาด ซึ่ง ธปท.จะดูแลเมื่อเกิดความผันผวนสูงผิดปกติที่อาจส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ โดยการดูแลเป็นเพียงการซื้อเวลาให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัว และทำได้เพียงช่วงสั้นๆ เพราะการฝืนกระแสตลาดจะเป็นการสะสมความเสี่ยงที่จะก่อปัญหาในระยะยาว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"เงินบาท" อ่อนค่าทะลุ 38 บาทต่อดอลลาร์ กดดันขึ้นดอกเบี้ย
เอกชนชี้ "เงินบาทอ่อน" ไม่กระทบแข่งขัน แนะรับมือดอกเบี้ยขาขึ้น