ปี 2565 ไทยมีความเสี่ยงเผชิญภาวะน้ำท่วมบางพื้นที่ โดยมีสัญญาณชัดเจนจากดัชนีสมุทรศาสตร์ และปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีระดับสูงใกล้เคียงปี 2554
พื้นที่เสี่ยง ได้แก่ บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก อาจสร้างความเสียหายต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
วิจัยกรุงศรี ประเมินพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม ภายใต้การจำลองสถานการณ์และประเมินผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 3 กรณี
- กรณีที่ผลกระทบน้อยสุด คือ กรณีฐาน มีสมมติฐานว่าฝนตกมากกว่าค่าปกติร้อยละ 3 จะมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 5.3 ล้านไร่ ทรัพย์สินเสียหาย 790 ล้านบาท สินค้าเกษตรเสียหาย 1.16 หมื่นล้านบาท คิดเป็นความเสียหายต่อ GDP ร้อยละ 0.08
- กรณีเลวร้าย ฝนตกมากกว่าค่าปกติร้อยละ 10 พื้นที่ได้รับผลกระทบ 8.3 ล้านไร่ ทรัพย์สินเสียหาย 1,250 ล้านบาท สินค้าเกษตรเสียหาย 1.82 หมื่นล้านบาท คิดเป็นความเสียหายต่อ GDP ร้อยละ 0.12
- กรณีเลวร้ายที่สุด ฝนตกมากกว่าค่าปกติร้อยละ 20 จะมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 15.2 ล้านไร่ ทรัพย์สินเสียหาย 2,270 ล้านบาท สินค้าเกษตรเสียหาย 3.32 หมื่นล้านบาท คิดเป็นความเสียหายต่อ GDP ร้อยละ 0.22
วิจัยกรุงศรี รายงานอีกว่า หากพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมอยู่ในบริเวณที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสูง เช่น ที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม แหล่งพื้นที่เกษตรที่สำคัญ หรือเส้นทางคมนาคมสำคัญ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อเนื่องไปยังห่วงโซ่อุปทานการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งจะทำให้ความเสียหายต่อ GDP เพิ่มมากขึ้น
หนึ่งในพื้นที่ที่ถูกประกาศให้เฝ้าระวังน้ำท่วมเฉียบพลัน คือ นครราชสีมา
นายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ ประธานกรรมการหอการค้า จ.นครราชสีมา กล่าวว่า หากมีการปล่อยน้ำออกมาจากเขื่อน จะมีบางส่วนที่ป้องกันไม่ได้ แต่ยังเชื่อว่าการบริหารจัดการน้ำจะทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่รุนแรง ประกอบกับคนในพื้นที่มีประสบการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 และปี 2564
ทั้ง ประเด็นน้ำท่วม คนในพื้นที่มีการพูดคุยกัน แต่ไม่ได้ตื่นตระหนก เน้นการเฝ้าระวังและเตรียมพร้อม ส่วนการประเมินความเสียหายน้ำท่วมต่อเศรษฐกิจ ยังมองว่าจะมีผลไม่มาก
เศรษฐกิจยังทรงๆ เหมือนเดิม น้ำท่วมก็เป็นปัจจัยหนึ่ง แต่ปัจจัยหลักคือ เงินเฟ้อ ค่าพลังงานแพง ประชาชนต้องจ่ายเงินมากขึ้น ซึ่งไม่สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนในการใช้จ่าย
ขณะที่ภาพใหญ่ระดับประเทศ ช่วงปลายปีเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว หลายคนมีความเป็นห่วงว่าน้ำท่วมจะกระทบกับการเดินทาง
นายชัยพฤกษ์ ทองคำ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) ระบุว่า จะไม่กระทบ เพราะขณะนี้ไม่ใช่ฤดูท่องเที่ยวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เกิดปัญหาน้ำท่วม
ภาคอีสานไม่ค่อยมี ตอนนี้เป็นฤดูกาลเที่ยวทะเลกับภูเขา ขึ้นเหนือกับลงใต้ ภาคอีสานจะเป็นช่วงที่ผ่านมา กรีน ซีซั่น ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ย.
ด้านนายสมชาย หวังวัฒนาพานิช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปี 2565 ไม่น่าจะเกิดขึ้นเหมือนปี 2554 เพราะมีการจัดเตรียมพื้นที่แก้มลิงไว้รองรับ ซึ่งเป็นมาตรการที่ภาครัฐจัดเตรียมไว้ในปีนี้
ขณะที่ภาคเอกชนมีการเตรียมความพร้อมไว้เช่นกัน ซึ่งทุกภาคส่วนมีการประสานงานกัน ตั้งวอร์รูมภาคอุตสาหกรรมในแต่ละจังหวัด พร้อมเตรียมแผนสำรองกรณีน้ำท่วม
ต้องมีเส้นทางที่ 2 ไว้ กรณีเส้นทางหลักน้ำท่วม เพื่อไม่ให้กระทบกับลูกค้า หากบริหารจัดการดีเชื่อว่าปีนี้จะผ่านพ้นไปได้
ส่วนพื้นที่ภาคกลางที่เสี่ยงจะเกิดน้ำท่วมในปีนี้ คือ นิคมอุตสาหกรรม จ.พระนครศรีอยุธยา รวมถึงแนวปริมณฑล เช่น เขตลาดกระบัง ซึ่งได้เตรียมมาตรการป้องกันไว้แล้วเช่นกัน
สำหรับความเสียหายของภาคเกษตร โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น การประเมินความเสียหายอาจยังไม่ชัดเจน จึงขอเวลารวบรวมข้อมูลและจะรายงานในภายหลัง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จิสด้าเผยภาพน้ำท่วมขัง 8 จังหวัด "ลุ่มน้ำชี-มูล" รวม 4.1 แสนไร่
เช็กพื้นที่น้ำท่วม-ความเสียหาย "พายุโนรู" ถล่มอุบลฯ