วันที่ 27 ก.ย.2565 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประชุมร่วมกับ ผู้อำนวยการสำนักงาน กกต. ประจำจังหวัด ทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงถึงแนวทางการในช่วงหาเสียง 180 วันก่อนเลือกตั้ง
หนึ่งในข้อปฏิบัติที่ กกต. ห้ามผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองทำในช่วง 180 วัน ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน พ.ค.2566 คือ
เมื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือพรรคการเมือง ต้องไปร่วมงานศพ การให้พวงหรีดต้องเป็นพวงหรีดดอกไม้สดเท่านั้น
หากผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือพรรคการเมืองให้พวงหรีด เป็นพัดลม ผ้าห่ม หรือพวงหรีดที่ผลิตขึ้นจากสิ่งของที่มีมูลค่า ราคาสินค้า จะถือว่าทำผิดตามข้อกำหนดของ กกต.
กกต.ให้เหตุผลว่า ถ้าต้องการจะแสดงความเคารพหรือไว้อาลัยต่อผู้เสียชีวิต "พวงหรีดดอกไม้สด" ถือว่าเป็นการแสดงความคารวะอาลัยต่อผู้จากไป และทำให้ผู้ให้ได้บุญมากกว่า การให้พวงหรีดแบบอื่น
มาดูกันว่า "พวงหรีด" มีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมจากสิ่งของที่แสดงความอาลัยต่อผู้เสียชีวิต กลายมาเป็นของที่มีมูลค่า จนถูกตีความกับการเมืองได้
พวงหรีดมาจากไหน
หรีด หรือ พวงหรีด มีมาตั้งแต่สมัยอารยธรรมอีทรัสคัน ในแถบทวีปยุโรปตอนใต้ ใช้ในการเฉลิมฉลองในเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสต์เจ้า โดยใช้การแกะสลักมงกุฎทองเป็นรูปดอกไม้ และใบไม้
จากนั้นจึงเริ่มเปลี่ยนมาใช้ดอกไม้ ใบไม้สดแทน และพัฒนามาใช้ในงานรื่นเริง งานเฉลิมฉลองต่างๆ ใช้ประดับภายในโบสถ์หรือแขวนไว้ที่ประตูหน้าบ้านช่วงเทศกาล
พวงหรีดเข้าไทยได้อย่างไร
ในช่วงที่อารยธรรมตะวันตกเริ่มแพร่หลายไปพร้อมๆ กับการล่าอาณานิคม ซึ่งตรงกับช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 มีภาพหลักฐานปรากฏการนำดอกไม้หลายชนิดมาประดิษฐ์เป็นทรงกลม คล้ายพวงหรีดเป็นครั้งแรก ถูกใช้ประดับในพระเมรุของสมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา หรือ เจ้าจอมมารดาเปี่ยม พระสนมเอกในรัชกาลที่ 5 พ.ศ.2447
เป็นการสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนในขณะนั้น ถึงปัจจุบันว่า “พวงหรีด” คือสิ่งที่ใช้ในงานศพ เพื่อแสดงความอาลัยต่อการจากไปของบุคคลอันเป็นที่รัก และคำว่า “Wreath” อ่านออกเสียงว่า “หรีด”
ดังนั้น "พวงหรีด" จึงเป็นคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ เป็นสิ่งยืนยันว่า พวงหรีดเริ่มต้นจากต่างประเทศแล้วจึงแพร่หลายในไทยในเวลาต่อมา
พวงหรีดดอกไม้สด
ตั้งแต่สมัยโบราณ การใช้ดอกไม้สดทำพวงหรีด เพราะความสะดวก หาง่าย ในยุคสมัยนั้นยังไม่มีอุปกรณ์อื่นๆ รวมถึงภาพจำที่ส่งต่อกันมาว่า พวงหรีดต้องใช้ดอกไม้สดเท่านั้น
ความเบ่งบานของดอกไม้ สีสันที่สดใส สื่อถึงช่วงชีวิตของผู้เสียชีวิตในช่วงที่ยังมีชีวิต เมื่อดอกไม้เหี่ยว ก็สื่อถึงว่า ทุกอย่างย่อมสลายไปตามกาลเวลา
พวงหรีดมีอะไรบ้าง
ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา ครอบครัวผู้สูญเสีย รวมถึงวัด สถานที่จัดงานศพ เริ่มมองว่า การใช้พวงหรีดดอกไม้สด ไม่ก่อประโยชน์เมื่อเทียบกับการใช้สิ่งของอื่นๆ เช่น พัดลม ผ้าห่ม และพวงหรีดดอกไม้สดยังเป็นขยะ กำจัดยาก ก่อมลพิษเมื่อต้องทำลาย ไม่ก่อประโยชน์หลังจากงานศพเสร็จสิ้น
ปัจจุบันร้านค้าต่างๆ ต่างนำสิ่งของเครื่องใช้มาทำเป็นพวงหรีด เพื่อให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่นำไปใช้สอยต่อได้ เช่น หนังสือ ผ้าขาวม้า ผ้าห่ม พัดลม เครื่องครัว ฯลฯ จึงเป็นที่มาของการถูกนำไปตีเป็น "มูลค่า" ที่มีมากกว่า "ดอกไม้สด"