ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศูนย์จีโนมฯ เผยไทยพบ "โอมิครอน BA.2.75.2" แล้ว 3 คน

สังคม
30 ก.ย. 65
16:09
314
Logo Thai PBS
ศูนย์จีโนมฯ เผยไทยพบ "โอมิครอน BA.2.75.2" แล้ว 3 คน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ระบุโควิดเจเนอเรชัน 3 โอมิครอน BA.2.75.2 พบในไทยแล้ว 3 คน ทั่วโลก 731 คน ขณะที่โอมิครอน BQ.1.1 พบทั่วโลก 228 คน

วันนี้ (30 ก.ย.2565) ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์เฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ระบุว่า จากฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก “GISAID” พบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.75.2 ในประเทศไทยเพิ่มเป็น 3 คน ทั่วโลกพบเพิ่มเป็น 731 คน

โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.75.2 มีการกลายพันธุ์เพิ่มเติมจาก BA.5 บนส่วนหนามถึง 13 ตำแหน่ง และมีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด ประมาณ 71% เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์ BA.5 ที่ระบาดอยู่ทั่วโลกขณะนี้

ภาพ : เฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics

ภาพ : เฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics

ภาพ : เฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics

 

ขณะที่ฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก “GISAID” ยังไม่พบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BQ.1.1 ในประเทศไทย แต่ทั่วโลกพบเพิ่มเป็น 228 คน

โอมิครอน BQ.1.1 ทั่วโลกเพิ่มจาก 136 คนเมื่อ 7 วันก่อน เป็น 228 คนในวันนี้ (30 ก.ย.) ซึ่ง BQ.1.1 เป็นเหลนของโอมิครอน BA.5 มีการกลายพันธุ์ 3 ตำแหน่งสำคัญในลักษณะของ "convergent mutation/evolution" บนส่วนหนามคือ R346T, K444T และ N460K

ภาพ : เฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics

ภาพ : เฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics

ภาพ : เฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics

 

การกลายพันธุ์ตำแหน่ง N460K ของส่วนหนาม ช่วยให้อนุภาคไวรัสเข้าจับกับผิวเซลล์มนุษย์ได้ดี เพื่อแทรกเข้าภายในเซลล์เพื่อเพิ่มจำนวน เป็นการนำไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ย่อยประเภทต่างๆ (ที่สร้างขึ้นในหลอดทดลอง pseudovirus) เข้าทำปฏิกิริยากับตัวจับบนผิวเซลล์สำเร็จรูป

พบว่า ทั้งโอมิครอน BA.2.75.2 และ BQ.1.1 สามารถยึดจับกับตัวจับบนผิวเซลล์ในหลอดทดลองได้ดี แสดงว่าการกลายพันธุ์ในส่วนหนามแหลมของไวรัสทั้ง 2 เพื่อหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของร่างกาย ไม่ได้ทำให้การยึดเกาะของอนุภาคไวรัสกับเซลล์ที่ใช้ส่วนหนามเช่นกัน ด้อยประสิทธิภาพลงหรือสูญเสียไป

ขณะที่การกลายพันธุ์ตำแหน่ง R346T และ K444T จะช่วยหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันเป็นเลิศ ส่งผลให้โอมิครอน BA.2.75.2 จะดื้อต่อแอนติบอดีค็อกเทลอย่าง “เอวูเชลด์ (Evusheld)” แต่ “เบบเทโลวิแมบ (Bebtelovimab) ยังใช้ได้

ส่วน BQ.1.1 ดื้อต่อแอนติบอดีสำเร็จรูปทุกชนิดที่องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ให้ใช้ได้ รวมทั้งแอนติบอดีค็อกเทลทั้ง “เอวูเชลด์ (Evusheld)” และ “เบบเทโลวิแมบ (Bebtelovimab)”

จับตา "ทวีปยุโรป-อเมริกาเหนือ" ระบาดหน้าหนาว

อย่างไรก็ตาม ต้องเฝ้าติดตามช่วงย่างเข้าฤดูหนาวของทวีปยุโรปและทวีปอเมริกาเหนือ ตั้งแต่เดือน ธ.ค.เป็นต้นไป หากประชาชนไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่เว้นระยะห่าง หลังมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ จะก่อให้เกิดการระบาดของโอมิครอน BA.2.75.2 หรือ BQ.1.1 หรือไม่

หรือ BA.5 ยังคงระบาดครอบคลุมพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ ไม่เปิดโอกาสให้โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่มีการกลายพันธุ์ไปมากกว่าสามารถเข้ามาแทนที่ได้ และถูกกำจัดไปด้วยกันด้วยวัคซีนเข็มกระตุ้น วัคซีนเจนเนอเรชัน 2 หรือภูมิที่ได้รับจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง