วันนี้ (6 ต.ค.2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากกรมชลประทาน เตรียมระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนพระราม 6 จาก 600 ลบ.ม./วินาที เป็น 800 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้พื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 40 เซ็นติเมตร ถึง 1 เมตร
ล่าสุด การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประกาศยกระดับการเตือนภัยเป็นสีส้ม หรือระดับ 3 ใน 3 นิคมฯ ที่มีความเสี่ยงสูง คือ นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง, นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า และนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน
นายดิสพล ยิ้มขลิบ ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมนครหลวง ระบุว่า ได้ตั้งศูนย์อำนวยการควบคุมฉุกเฉิน เพื่อเตรียมแผนมาตรการรองรับและแผนรับมืออุทกภัย โดยสร้างเขื่อนกันน้ำให้สูงขึ้นอีก 75 เซนติเมตร สูงเป็น 4 เมตรจากระดับถนน ทำให้ตัวเขื่อนสูง 8.20 จากระดับน้ำทะเล พร้อมแผนสูบน้ำออกนอกพื้นที่ด้วยเครื่องสูบน้ำ 4 ตัว และปั๊มพญานาคอีก 3 จุด รวมศักยภาพในการระบายน้ำได้ 29,300 ลบ.ม./ชั่วโมง
ผอ.สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมนครหลวง ยอมรับว่า นิคมฯ นครหลวง เป็นพื้นที่เสี่ยงที่สุด เพราะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำและรับน้ำก่อนนิคมฯ อื่น แต่มั่นใจแผนรับมือน้ำท่วม ยกเว้นกรณีระดับน้ำมาสูงและหนักกว่าปี 2554 หลายเท่า ซึ่งมีโอกาสน้อยมาก
ส่วนความเชื่อมั่นของนักลงทุน ยอมรับว่า อาจมีผลกระทบบ้างในเชิงจิตวิทยา แต่ด้วยศักยภาพของนิคมฯ ยังสามารถสร้างความมั่นใจได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนกลุ่มประเทศญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป โดยลงทุนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
อ่านข่าวอื่นๆ
ฉากทัศน์บริหารน้ำเหนือสูงสุด ล้นกรุงเทพฯ หรือไม่ ?