วันนี้ (8 ต.ค.2565) กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จัดส่งทีมจิตแพทย์ โดยเน้นย้ำทีมจิตแพทย์และผู้ปฏิบัติงานจากสหวิชาชีพ มีกำลังใจ ที่เข้มแข็ง และเข้าใจสภาพสังคมในชุมชน
ก่อนลงพื้นที่ปฐมพยาบาลทางจิตใจ เพื่อหาทางช่วยให้ครอบครัวผู้สูญเสีย และผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกคนก้าวผ่านช่วงเวลาของความเสียใจและกลับมาใช้ชีวิตตามปกติให้ได้
จากนั้นทีมจะกระจายกำลังลงพื้นที่ พูดคุยกับครอบครัวผู้เสียชีวิต โดยแผนระยะแรก คือ ในระหว่างการตั้งบำเพ็ญกุศลศพผู้เสียชีวิต ไปจนถึงวันพระราชทานเพลิงศพ
เจ้าหน้าที่จะตามดูและอย่างใกล้ชิด เพื่อพูดคุยและรับฟังในช่วงของการสูญเสียระยะแรก เพื่อประเมินความเสี่ยงในด้านสภาพจิตใจของแต่คน
การสอดแทรกหลักวิชาการปฐมพยาบาลด้านจิตใจ โดยใช้หลัก 3 ส. "สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง และส่งต่อเชื่อมโยง" คือ หลักการปฏิบัติ ที่ต้องสานต่อให้กับคนในชุมชน เพราะมีความเสี่ยงในการเกิดความเครียดเช่นกัน
เบื้องต้นให้สังเกตตัวเอง งดรับสื่อที่นำเสนอข่าวสารที่สร้างความหดหู่ หรือตอกย้ำเหตุการณ์เดิม
พญ.จุฬาพันธุ์ เหมกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชเลยราชนครินทร์ ในฐานะประธานคณะปฏิบัติการด่านหน้าเหตุกราดยิง จ.หนองบัวลำภู ให้ข้อมูลว่า การเยียวยาที่จะได้ผล นอกจากทีมจิตแพทย์ และสหวิชาชีพแล้ว บุคคลใกล้ชิด และคนในชุมชน ถือว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ ในการช่วยเหลือดูแลกัน
ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ครั้งนี้ แม้เจ้าหน้าที่จะยังไม่สามารถประเมินได้ว่าต้องใช้เวลานานเพียงใด แต่ทีมจิตแพทย์ยืนยันว่า จะเยียวยาจิตใจทั้งผู้ที่สูญเสีย และสร้างกำลังใจให้กับคนในชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติสุขเช่นเดิม