เมื่อวันที่ 8 ต.ค.2565 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ School of Changemakers และ TK Park จัดงาน “Prototype Testing Learning Space : ทดลองไอเดียสร้างความยั่งยืนพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน” โดย น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่า เด็กทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดขนาดเล็ก มีข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ แม้กระทั่งเด็กในกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่ซึ่งมีจำนวนแหล่งเรียนรู้มากกว่าแต่ก็ไม่เพียงพอทั้งจำนวนและความหลากหลาย ทำให้เด็กจำนวนมากใช้เวลาว่างนอกเวลาเรียนไปกับหน้าจอมือถือ ขาดโอกาสเรียนรู้ผ่านการเล่นหรือการลงมือทำงานสร้างสรรค์
จากการสำรวจพฤติกรรมการไปแหล่งเรียนรู้ของเยาวชนไทย Youth Survey 2022 โดย คิด for คิดส์ สำรวจเยาวชนไทยอายุ 15 – 25 ปี เกือบ 20,000 คน พบว่า กลุ่มที่มีปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ ทั้ง พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ โรงหนัง/คอนเสิร์ต สวนสัตว์ มักเป็นกลุ่มที่ครัวเรือนมีฐานะยากจน หรืออยู่ในจังหวัดขนาดเล็ก
อุปสรรคใหญ่ คือ ระยะทางและค่าเดินทาง ชี้ให้เห็นว่า แหล่งเรียนรู้ในไทยมีน้อย อีกทั้งกระจุกตัวอยู่ตามหัวเมือง ทำให้เด็กใช้เวลาว่างนอกห้องเรียน ไปห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด บ้านเพื่อนและบ้านญาติ มากที่สุดเป็น 3 อันดับแรก
สสส.จึงร่วมกับ School of Changemakers และ TK Park จัดงานขึ้น เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการบ่มเพาะองค์กร หรือโครงการที่ทำงานสร้างสรรค์พื้นที่เรียนรู้ทั่วประเทศ เริ่มจาก 11 หน่วยงานที่จะเป็นต้นแบบในการขยายผลการดำเนินงานทั้งในสถานศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ในอนาคตหวังว่าจะมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมขยายผลได้อย่างครอบคลุม เพื่อให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ง่าย และเกิดความยั่งยืนยิ่งขึ้น
น.ส.พรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ก่อตั้ง School of Changemakers กล่าวว่า พื้นที่เรียนรู้ 11 หน่วยงาน 1.โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้ 2.Life Education (Thailand) 3.กลุ่มใบไม้ 4.บริษัท สานพลังดี จำกัด 5.พลังโจ๋ 6.มูลนิธิไทยอาทร 7.กลุ่มพงลีแป 8.สถาบันพัฒนาเยาวชนและชุมชนเพื่ออนาคต 9.ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านเกาะทัง 10.สำนักกิจกรรมกิ่งก้านใบ 11.วิสาหกิจชุมชนฟาร์มผาสุขและเกษตรอินทรีย์ จะนำเสนอแนวคิดสร้างสรรค์พื้นที่เรียนรู้ต่อกลุ่มเป้าหมายภาคธุรกิจ นักศึกษา ประชาชนทั่วไป กว่า 40 คน ที่จะแลกเปลี่ยนแนวคิดในการทำพื้นที่เรียนรู้ ทั้งการจัดการพื้นที่ พัฒนากิจกรรม และงบประมาณ
ทั้งนี้ นำไปสู่การต่อยอดความร่วมมือจัดทำพื้นที่เรียนรู้ในหน่วยงานที่สนใจ เหมือนการจับคู่เจรจาธุรกิจ แต่งานนี้เป็นการจับคู่สร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้น เชื่อว่าจะจุดกระแสสังคม โดยเฉพาะภาคธุรกิจ หันมาทำกิจกรรมเพื่อสังคมในมิติของการพัฒนาเด็กและเยาวชน นอกจากประเด็นสิ่งแวดล้อม หรือการจัดการขยะ เกิดความร่วมมือกับภาคีใหม่ ๆ มากขึ้น