ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พบ 260 คนได้รับผลกระทบจิตใจ เหตุหนองบัวลำภู

สังคม
11 ต.ค. 65
15:26
849
Logo Thai PBS
พบ 260 คนได้รับผลกระทบจิตใจ เหตุหนองบัวลำภู
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมสุขภาพจิต แถลงความคืบหน้าดูแลจิตใจเหตุหนองบัวลำภู พบผู้ได้รับผลกระทบจิตใจ 260 คน เช่น ผู้สูญเสียโดยตรง คนบาดเจ็บ ผู้เห็นเหตุการณ์ ญาติ วางแผนช่วยเหลือ 2 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน ก่อนประเมินกลุ่มรุนแรงสูง หรือปัญหาทางจิตใจเรื้อรัง

วันนี้ (11 ต.ค.2565) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวความคืบหน้าการดูแลจิตใจพื้นที่หนองบัวลำภู ในช่วงแรกเป็นการเปิดคลิปวิดีโอที่แม่ของผู้ก่อเหตุได้ขอโทษต่อการกระทำของลูกชาย รู้สึกเสียใจอย่างมาก และจะไปกราบขอโทษทุก ๆ คน

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า แม่ของผู้ก่อเหตุประสงค์ให้เผยแพร่คลิปความรู้สึกเสียใจต่อเหตุดังกล่าว พร้อมระบุว่าไม่ได้ถูกคุกคามอย่างที่เป็นข่าว

ผู้บาดเจ็บอาการดีขึ้น

ทีมกรมสุขภาพจิตได้เข้าไปดูแลพื้นที่ในเรื่องของจิตใจอย่างใกล้ชิด ส่วนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลอุดรธานี ขณะนี้อาการดีขึ้น วันนี้เด็กมีไข้ลดลงและรับรู้ดีขึ้น เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ที่รู้ตัวดี ขยับแขนทั้งสองข้างได้ตามคำบอก ส่วนเด็กชาย 2 คน ที่รักษาตัวในไอซียูโรงพยาบาลหนองบัวลำภู หนึ่งในนั้นสามารถหายใจเองได้ดี พูดคุยได้เป็นคำ ๆ เช่น บ้าน นม หิว คาดว่าจะย้ายออกจากไอซียูได้เร็ว ๆ นี้

ในวันนี้จะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพ ซึ่งการเตรียมการเป็นโอกาสในการหลอมหลวมแรงใจของคนในชุมชนและเครือญาติ

ความเห็นอกเห็นใจกันและเข้าใจถึงเหตุและผล จะเป็นอีกหนึ่งแก่นแกนสำคัญทำให้ครอบครัวของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดสามารถเดินหน้าต่อไป และใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุขให้เร็วที่สุด

พญ.อัมพร กล่าวว่า ขณะนี้พบกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุด 260 คน ได้แก่ ผู้สูญเสียโดยตรง ผู้ได้รับบาดเจ็บ ผู้เห็นเหตุการณ์ และญาติใกล้ชิดของผู้เสียชีวิต แต่ยืนยันว่าไม่มีข้อจำกัดในการดูแล และมีหลายกลุ่มวิชาชีพแจ้งความประสงค์เป็นอาสาสมัครเพื่อเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงกลุ่มที่อยู่รอบข้าง และชุมชน

สำหรับกระบวนการหลังจากนี้ พญ.อัมพร ระบุว่า หลังจากพิธีการเสร็จสิ้น จังหวะเปลี่ยนผ่านเป็นอีกรอยต่อหนึ่งที่มีความหมาย เมื่อพิธีพระราชทานเพลิงศพเสร็จสิ้น ทีมสุขภาพจิตจะเข้าไปดูแลเป็นรายบุคคล ทั้งการตรวจประเมินผลกระทบทางจิตใจว่ารุนแรง หรือเรื้อรังมากเพียงใด โดยจะเห็นภาพของครอบครัว บริบทการดำเนินชีวิต รวมทั้งวางแผนผังเชื่อมโยงแต่ละครอบครัวในชุมชน รวมทั้งโอกาสในการเกื้อหนุนระหว่างกัน

ทั้งนี้ จะมุ่งดูแลในกลุ่มสีแดงเป็นพิเศษ และผู้เกี่ยวข้องในงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อบต. กู้ภัย ครู ชุมชนรายรอบที่เกิดเหตุ โรงเรียนอีก 2 แห่ง ซึ่งจะประเมิน สังเกตเพื่อออกแบบการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องในระยะยาว คือ 2 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน หลังจากนั้นจะดูแลในกลุ่มที่มีความรุนแรงสูง หรือมีปัญหาทางจิตใจเรื้อรัง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง