ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไทยพบ 1 คน "โอมิครอน" สายพันธุ์ย่อย “BQ.1" แพร่เร็ว-ดื้อยา

สังคม
18 ต.ค. 65
10:47
5,191
Logo Thai PBS
ไทยพบ 1 คน "โอมิครอน" สายพันธุ์ย่อย “BQ.1" แพร่เร็ว-ดื้อยา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ไทย รพ.รามาธิบดี รายงาน GISAID พบโอมิครอน BQ.1 ในประเทศไทยแล้ว 1 คน ระบุเป็นสายพันธ์ุที่แพร่เชื้อเร็ว-ดื้อยา และ WHO กังวลพบระบาดหนักในสหรัฐอเมริกา กำลังมาแทน BA.5 ในสิ้นปีนี้

วันนี้ (18 ต.ค.2565) ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์เฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics  Center for Medical Genomics  ระบุว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (CDC) ได้ออกมาเตือนถึงการระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย “BQ.1” และ BQ.1.1 ซึ่งเป็นรุ่นหลานของโอมิครอน BA.5

จากการสืบค้นฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรม ทั้งจีโนมของโควิด-19 โลก โดย GISAID พบโอมิครอน BQ.1 ในประเทศไทยแล้ว 1 คน

นพ.แอนโทนี เฟาชี แพทย์ใหญ่ประจำคณะทำงานด้านการควบคุมโรคโควิด-19 ของทำเนียบขาวของสหรัฐฯ กล่าวถึงสาเหตุที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญกังวลใจเกี่ยวกับบรรดาโอมิครอนสายพันธุ์ใหม่ เช่น BQ.1 และ BQ.1.1 เนื่องจาก 2 เหตุผลสำคัญ 

โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BQ.1 และ BQ.1.1 มีการเพิ่มจำนวนเป็นเท่าตัว ภายในสัปดาห์เดียวติดต่อกันมาหลายสัปดาห์ ถือว่าสูงมาก 

 

นอกจากนี้ โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BQ.1 และ BQ.1.1 ดื้อต่อยาแอนติบอดีสำเร็จรูปตัวสำคัญที่มีใช้อยู่ เช่น เอวูเชลด์ (Evusheld) และเบบเทโลวิแมบ (Bebtelovimab) ที่ใช้รักษาโควิด-19 

ปัจจุบันโอมิครอน สายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่ เช่น BQ.1 มีความสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อโควิด-19 ตามธรรมชาติหรือภูมิที่ได้จากการฉีดวัคซีนได้ดี

โดยผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน และมีการติดเชื้อโอมิครอน BA.5 จะมีภูมิต้านทานการติดเชื้อโอมิครอน BQ.1 ได้ดีกว่าเล็กน้อย (เนื่องจาก BQ.1 กลายพันธุ์มาจาก BA.5)

 

เมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน และมีการติดเชื้อโอมิครอน BA.2  ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนและมีการติดเชื้อโอมิครอน BA.1  และผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแต่ไม่เคยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มาก่อนตามลำดับ 

ดังนั้นการใช้วัคซีนเจเนอเรชัน 2 ที่ใช้ส่วนหนามกับ BA.5 เป็นตัวกระตุ้นน่าจะยังสามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนของ BQ.1 และ ฺBQ.1.1 ในร่างกายของผู้ติดเชื้อได้เนื่องจาก BQ.1 และ ฺBQ.1.1 กลายพันธุ์มาจาก BA.5 จึงมีส่วนหนามคล้ายกัน

เหตุผล BQ.1 เชื้อแพร่เร็ว-ดื้อยา

นอกจากนี้โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่ ยังดื้อต่อยาแอนติบอดีสำเร็จรูป เจเนอเรชันแรก เป็นส่วนใหญ่ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยาแอนติบอดี ค็อกเทลเจเนอเรชันสอง สำหรับรักษาผู้ติดเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่

แอนติบอดี ค็อกเทล เจนเนอเรชั่นสอง เช่น SA55+SA58 สามารถเข้าจับและทำลายโอมิครอนได้ทุกสายพันธุ์ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1/BA.2, BA.4/BA.5 จนมาถึงสายพันธุ์ย่อยล่าสุด BQ.1, BQ.1.1, XBB

โอมิครอน BQ.1 มีการกลายพันธุ์ บริเวณส่วนหนามที่สำคัญคือ K444T, L452R, N460K, และ F486V ซึ่งทำให้หลบภูมิคุ้มกันที่ได้จากการติดเชื้อตามธรรมชาติหรือได้จากการฉีดวัคซีนได้ดี

ในสหรัฐอเมริกา มีผู้ติดเชื้อ BQ.1 จำนวน 5.7% ของโอมิครอนสายพันธุ์ต่างๆ ที่ระบาดหากคิดรวม BQ.1.1 (กลายพันธุ์เพิ่มจาก BQ.1 อีกหนึ่งตำแหน่ง คือ R346T จะมีผู้ติดเชื้อ BQ.1 และ BQ.1.1 รวมกัน 11.4%

ทั้งนี้ คาดว่าสายพันธุ์ย่อยทั้ง 2  จะมาแทนที่ BA.4.6 ที่ระบาดในประเทศถึง  12.2% แต่ขณะนี้ BA.4.6 มีปริมาณการเพิ่มจำนวนที่คงตัว ในขณะที่โอมิ ครอน BA.5 ในสหรัฐอเมริกา ลดจำนวนลงเหลือเพียง 67.9%

 

คาดการณ์ BQ.1 แทนที่ BA.5 สิ้นปีหรือต้นปี 66 

นอกจากนี้ BQ.1 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด เหนือกว่า BA.5.2 เกือบ 15% ต่อวัน ในขณะที่ BQ.1 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาดเหนือกว่า BA.2 ประมาณ 14% ต่อวัน

บ่งชี้ว่า BQ.1 น่าจะเจริญเพิ่มจำนวนได้รวดเร็วกว่า ส่งผลให้แพร่ติดต่อได้อย่างรวดเร็ว และน่าจะเข้ามาแทนที่ BA.5 ได้ภายในสิ้นปีนี้หรือต้นปี 2566

แม้โอมิครอน BQ.1 และ BQ.1.1 จะมีการกลายพันธุ์หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว แต่ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกแสดงให้เห็นว่าโอมิครอน BQ.1 และ BQ.1.1 ก่อให้เกิดการติดเชื้อที่รุนแรง และมีจำนวนผู้เสียชีวิตแตกต่างไปจากโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมอย่างมีนัยสำคัญ

การรักษาอาจต้องใช้ยาแอนติบอดี ค็อกเทล เจเนอเรชันสอง ที่เข้าจับหนามของอนุภาคไวรัสบริเวณที่ไม่มีการกลายพันธุ์เปลี่ยนแปลง สามารถใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่ติดเชื้อโอมิครอนทุกสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1/BA.2, BA.4/BA.5 จนมาถึงสายพันธุ์ย่อยล่าสุด BA.2.75.2, BQ.1, BQ.1.1, และ XBB

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ด่วน! พบโควิดสายพันธุ์ XBB-BF.7 ในไทยรวม 4 คน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง