“ชื่อคุ้นๆ” - “เคยได้ยินชื่อนี้มาก่อน” - “พายุลูกเก่าหรือลูกใหม่” คำถามปนสงสัย เมื่อได้ยินชื่อพายุ “เซินกา” และ “เนสาท” อีกครั้งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาและต่อเนื่องจนถึงวันนี้ (18 ต.ค.)
ไทยพีบีเอสออนไลน์เปิดที่มาตั้งชื่อพายุ พร้อมไขคำตอบทำไมใช้ชื่อซ้ำกัน แต่ก่อนอื่นชวนทำความรู้จัก “พายุหมุนเขตร้อน” รู้หรือไม่ว่ามีชื่อเรียกต่างกันตามบริเวณที่เกิดขึ้น
ในอ่าวเบงกอล และในมหาสมุทรอินเดีย เรียกว่า "ไซโคลน" (Cyclone) ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ทะเลแคริบเบียน อ่าวเม็กซิโก และทางด้านทะเลฝั่งตะวันตกของเม็กซิโก เรียกว่า "เฮอร์ริเคน" (Hurricane) ในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตกกับมหาสมุทรแปซิฟิกใต้และทะเลจีนใต้ เรียกว่า "ไต้ฝุ่น" (Typhoon)
ทั้งนี้ ตามข้อตกลงระหว่างประเทศ มีการแบ่งพายุหมุนเขตร้อนตามความรุนแรงของพายุ ดังนี้
- พายุดีเปรสชั่น (Depression) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางไม่ถึง 34 นอต (63 กม./ชม.)
- พายุโซนร้อน (Tropical Storm) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง 34 นอต (63 กม./ชม.) ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 64 นอต (118 กม./ชม.)
- ไต้ฝุ่นหรือเฮอร์ริเคน (Typhoon or Hurricane) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 64 นอตขึ้นไป (118 กม./ชม.)
สำหรับชื่อของพายุแต่ละลูก จะถูกตั้งชื่อจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่ง “ประเทศไทย” ตั้งอยู่ในโซนมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตอนบนและทะเลจีนใต้ ร่วมกับสมาชิกประเทศอื่นๆ รวม 14 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา, จีน, เกาหลีเหนือ, ฮ่องกง, ญี่ปุ่น, ลาว, มาเก๊า, มาเลเซีย, ไมโครนีเซีย, ฟิลิปปินส์, เกาหลีใต้, สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม
นายชัยชาญ สิทธิวรนันท์ ผอ.สำนักพยากรณ์อากาศกลาง กรมอุตุนิยมวิทยา ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งชื่อพายุในโซนมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตอนบนและทะเลจีนใต้ ว่า ประเทศในโซนนี้จะเป็นผู้ตั้งชื่อพายุ โดยให้แต่ละประเทศตั้งชื่อ 5-10 ชื่อ และมีการแบ่งชื่อพายุเป็น 5 แถว
ส่วนรายชื่อประเทศและที่มาของชื่อพายุ จะเรียงประเทศตามลำดับอักษรภาษาอังกฤษ โดยประเทศแรกเริ่มจากกัมพูชา ไปจนถึงประเทศสุดท้ายคือเวียดนาม และชื่อพายุที่แต่ละประเทศตั้งไว้จะถูกนำมาเรียงลำดับในแต่ละแถวของประเทศนั้นๆ
การใช้ชื่อพายุ จะเริ่มจากชื่อแรกในแถวที่ 1 ไปตามลำดับ จนถึงชื่อสุดท้ายของแถวที่ 5 เมื่อใช้ชื่อพายุจนหมดแถวที่ 5 แล้ว ก็จะวนกลับมาใช้ชื่อพายุในแถวที่ 1 ใหม่อีกครั้ง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีการใช้ชื่อพายุซ้ำกัน
ทั้งนี้จะไม่มีการตั้งชื่อใหม่ แต่หากประเทศใดขอเปลี่ยนชื่อพายุหรือขอตั้งชื่อใหม่ก็สามารถทำได้ เพราะที่ผ่านมามีพายุที่รุนแรงและสร้างความเสียหายค่อนข้างมาก ก็มีการร้องขอให้เปลี่ยนชื่อใหม่เช่นกัน
“กุหลาบ-พระพิรุณ-วิภา” ชื่อพายุไทยตั้ง
สำหรับชื่อพายุของไทย มีทั้ง Prapiroon (พระพิรุณ), Wipha (วิภา), Mekkhala (เมขลา), Nida (นิดา), Kulap (กุหลาบ), Mangkhut (มังคุด), Bualoi (บัวลอย), Atsani (อัสนี), Chaba (ชบา) และ Khanun (ขนุน)
ชื่อ “กุหลาบ” ถูกนำไปใช้เรียกชื่อพายุที่เกิดขึ้นทางญี่ปุ่นในปีนี้ (2565) แล้ว แต่พายุลูกนี้ไม่เข้าไทย อย่างไรก็ตามการใช้ชื่อพายุที่ประเทศใดเป็นผู้ตั้ง ไม่จำเป็นว่าพายุลูกนั้นจะต้องเกิดขึ้นในประเทศนั้นด้วย
เดือน ต.ค.2565 ชื่อพายุ “เซินกา” ที่หมายถึงชื่อนกชนิดหนึ่งและเป็นชื่อประเทศเวียดนามตั้ง ถูกวนกลับมาใช้อีกครั้ง พายุลูกนี้ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคอีสานของไทย เช่นเดียวกับพายุ “เนสาท” ที่หมายถึงการประมง จากประเทศกัมพูชา เป็นชื่อที่อยู่ถัดลงมาจาก “เซินกา” ก็ถูกวนกลับมาใช้ใหม่
กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า พายุไต้ฝุ่นเนสาทจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ช่วงวันที่ 19-21 ต.ค. ขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีน ยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้จะทำให้พายุอ่อนกำลังลงตามลำดับอย่างรวดเร็ว แต่ยังส่งผลให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนบางแห่ง
ข้อมูล : กรมอุตุนิยมวิทยา