ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

น้ำทะลักท่วม “บ่อขยะ” อ่างทอง เร่งป้องกันไหลเข้าเขตเมือง

ภัยพิบัติ
18 ต.ค. 65
12:00
760
Logo Thai PBS
น้ำทะลักท่วม “บ่อขยะ” อ่างทอง เร่งป้องกันไหลเข้าเขตเมือง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
บ่อขยะเทศบาลเมืองอ่างทอง เกือบ 100 ไร่ ถูกน้ำท่วมพื้นที่ สร้างความกังวลว่าน้ำปนเปื้อนอาจไหลเข้าชุมชน ขณะนี้เจ้าหน้าที่เร่งทำคันกั้นน้ำจากบ่อขยะไหลเข้าเขตเมือง

วันนี้ (18 ต.ค.2565) เวลา 11.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บ่อขยะเทศบาลเมืองอ่างทอง พื้นที่เกือบ 100 ไร่ ตั้งอยู่ใน ต.เทวราช อ.ไชโย จ.อ่างทอง ถูกน้ำท่วมพื้นที่ ขณะนี้เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองอ่างทองได้สร้างแนวคันดินเหนียว หินคลุก สูงเกือบ 2 เมตร ป้องกันไม่ให้น้ำจากบ่อขยะไหลปนเปื้อนกับน้ำท่วมเข้าไปยังเขตเมือง

 

อย่างไรก็ตาม พบว่ามีน้ำผุดขึ้นมาที่หมู่บ้านเปี่ยมสุขเพลส จึงต้องอพยพประชาชนกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ ที่อยู่ภายในหมู่บ้านออกจากพื้นที่ โดยประชาชนบางส่วนเริ่มขนย้ายสิ่งของป้องกันความเสียหาย

 

ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองอ่างทองใช้รถแบคโฮเสริมคันดินรอบบ่อขยะเทศบาลเมืองอ่างทอง เพื่อเป็นแนวป้องกันน้ำจากคลองลำท่าแดง ซึ่งเป็นจุดรับน้ำจากแม่น้ำน้อย ที่ล้นตลิ่งมายังคลองสามซ้าย และมวลน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ไหลผ่าน จ.สิงห์บุรี ทะลักเข้ามาตามช่องว่างแนวคันกั้นที่แตกเสียหาย

 

บ่อขยะดังกล่าวรองรับปริมาณขยะทั้งจังหวัด วันละกว่า 110 ตัน จากศักยภาพที่รองรับได้เพียง 25 ตัน ทำให้มีขยะตกค้างที่รอกำจัดมากกว่า 300,000 ตัน เมื่อน้ำไหลเข้ามาท่วมและลงคลองลำท่าแดง ขยะอาจกระจายไปในบริเวณกว้าง โดยเฉพาะเขตเทศบาลเมืองอ่างทองที่เป็นเขตเศรษฐกิจ

 

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การจัดการขยะใหม่ในพื้นที่นั้น สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 6 ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หาทางเลือกในการจัดการขยะ โดยมี 3 พื้นที่ใกล้เคียง รัศมี 30-100 กิโลเมตร ได้แก่ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยต้นแบบ จ.พระนครศรีอยุธยา ค่ากำจัดขยะตันละ 150 บาท, หจก.บางไทร รีไซเคิล จ.พระนครศรีอยุธยา ค่ากำจัดขยะตันละ 150 บาท และนำไปกำจัดที่ จ.ชัยนาท

นอกจากนี้ ได้เสนอแนวทางไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เตรียมการกรณีเกิดอุทกภัย เช่น ประเมินแนวโน้มน้ำท่วม แผนเคลื่อนย้ายเครื่องจักรกล เตรียมพื้นที่จัดการขยะสำรอง ก่อสร้างคันดินโดยรอบ และประเมินความรุนแรงของพื้นที่ นำตาข่ายมากั้นบริเวณที่ขยะจะไหลออก รวมทั้งประเมินความเสียหายและทำความสะอาดหลังน้ำลด

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวัง! หวั่นน้ำทะลักท่วม “บ่อขยะ” จ.อ่างทอง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง