ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มท.1 จี้กำนัน-ผญบ.ห้ามตกหล่นน้ำท่วมอุบลฯ ท่วมยาวอีก 1 เดือน

การเมือง
18 ต.ค. 65
16:39
296
Logo Thai PBS
มท.1 จี้กำนัน-ผญบ.ห้ามตกหล่นน้ำท่วมอุบลฯ ท่วมยาวอีก 1 เดือน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
พล.อ.อนุพงษ์ ลงพื้นที่ติดตาม และเยียวยาผลกระทบท่วมอุบลราชธานี กำชับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านต้องเข้าถึงทุกบ้าน หลังมีข่าวโซเชียลชาวบ้านอดข้าวตกหล่นน้ำท่วม ให้หาครัวกลางปรุงอาหารส่ง ดูแลสุขภาพ

วันนี้ (18 ต.ค.2565) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ยืนยันว่ารัฐบาลเตรียมวางแผนช่วยเหลือเยียวยาเป็นกรณีพิเศษ พร้อมย้ำให้กำนันผู้ใหญ่บ้านดูแลประสบภัยให้ดีที่สุด ทุกคนต้องได้รับอาหาร เครื่องดื่ม และมีห้องสุขา

สำหรับการลงพื้นที่ครั้งนี้ รมว.มหาดไทย เน้นรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ประสบภัยน้ำท่วม ให้กำลังใจทั้งชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่รัฐ และขอให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ยึดถือปฏิบัติ

 

โดยเฉพาะกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะต้องพร้อมรับฟังปัญหาชาวบ้าน ยอมรับทั้งเสียงบ่นเสียงด่า เพื่อนำไปปรับปรุงวางแผนการทำงานจัดการความช่วยเหลือช่วงภัยพิบัติ โดยแต่ละหมู่บ้าน ชุมชน และภาคส่วนต่างๆต้องช่วยเหลือกัน

รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องการดำรงชีวิตผู้ประสบภัยน้ำท่วม ต้องอยู่กับน้ำนานเกินกว่า 1 เดือน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านต้องดูแลให้ทุกคนได้รับอาหาร เครื่องดื่ม คนที่ปรุงเองไม่ได้ ต้องมีโรงครัวปรุงนำเข้าไปแจกจ่ายให้ทั่วถึง และมีสุขา มีการดูแลเรื่องสุขภาพ

 

หลังก่อนหน้านี้ มีสื่อนำเสนอประเด็นชาวบ้านไม่ได้รับความช่วยเหลือ ไม่มีข้าวกิน ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกังวล และกำชับให้กระทรวงมหาดไทย ติดตามทุกพื้นที่ โดยมีการวางแผนดูแล ผู้ประสบภัยอย่างเป็นระบบ และครอบคลุมมากที่สุด ขอให้ประชาชนเข้าใจการทำงานของภาครัฐ หากไม่ได้รับความช่วยเหลือให้สื่อสารผ่านผู้นำชุมชน

ยันมีแผนเยียวยา-จัดหากำลังซ่อมบ้าน

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาล ได้เตรียมวางแผนช่วยเหลือเยียวยาเป็นกรณีพิเศษ นอกเหนือจากงบประมาณที่เบิกได้ตามระบียบราชการเช่น การซ่อมแซมบ้านที่เงินเยียวยาอาจไม่เพียงพอ จะต้องจัดหากำลังพล และภาคส่วนต่างๆ เพื่อช่วยเหลือ

ส่วนการแก้ปัญหาระยะแรกคือ การดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน ระยะกลางคือการเร่งระบายน้ำ ส่วนระยะยาวจะมีการศึกษาออกแบบโครงการคลองผันน้ำเลี่ยงเมือง เพื่อบรรเทาผลกระทบน้ำท่วมจ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ปลายน้ำ

คาดว่าอาจมีน้ำท่วมขังไปนานอีกกว่า 1 เดือน เพราะเป็นพื้นที่รับน้ำจากลำน้ำมูลและลำน้ำชี ก่อนไหลออกแม่น้ำโขง แต่จะเร่งผลักดันน้ำให้ไวที่สุด 

ชาวบ้านขอของสดเพื่อปรุงอาหารในครัวกลาง

ส่วน น.ส.สุภาวดี คำลือชัย ชาวชุมชนท่าก่อไผ่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานีกล่าวว่า ยังขาดแคลนสิ่งของดำรงชีวิต โดยเฉพาะน้ำดื่ม ส่วนอาหารมีเพียงพอ แต่อยากขอรับบริจาคเป็นของสด เพื่อให้ครัวกลางในชุมชน นำไปประกอบอาหารแจกจ่ายผู้ประสบภัยเอง

ผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่มาตั้งศูนย์พักพิงอยู่ริมถนนทางขึ้นสะพานเสรีประชาธิปไตย เส้นทางเชื่อมระหว่าง อ.วารินชำราบ และเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี เข้าแถวเพื่อต่อคิวรับอาหารที่ผู้มีจิตศรัทธานำมาบริจาค จำนวนผู้ประสบภัยที่มีจำนวนมากทำให้ข้าวเหนียวไก่ทอด และขนมจีนน้ำยาที่เตรียมมาไม่เพียงพอ

 

ผู้ประสบภัยบอกว่า มีผู้จิตศรัทธานำอาหารมาแจกให้เกือบทุกวัน ส่วนใหญ่เป็นข้าวกล่อง ขนม แต่ไม่เพียงพอ จึงอยากให้ผู้มีจิตศรัทธานำของสดมาบริจาคให้กับครัวกลางของชุมชน เพื่อทำอาหารแจกจ่ายกันเอง ส่วนสิ่งของที่ผู้ประสบภัยต้องการมากที่สุดคือน้ำดื่มและเครื่องอุปโภคบริโภค

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครม. รับทราบ 21 มาตรการ ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

ไต้ฝุ่น "เนสาท" จ่อขึ้นฝั่งเวียดนาม ภาคใต้ฝนตกหนัก 18-21 ต.ค.นี้

"เขื่อนอุบลรัตน์" ปรับลดระบายน้ำวันละ 3 ล้าน ลบ.ม.ถึง 21 ต.ค.

ฝนตกหนัก-น้ำท่วม ราคาผักภาคอีสานหลายชนิดแพงขึ้น 2 เท่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง