เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2565 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เผยแพร่ข้อมูลจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ภาพใหม่ล่าสุดจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล เป็นภาพของ "กาแล็กซี NGC 1961" กาแล็กซีก้นหอย โดยระบุรายละเอียดว่า
กาแล็กซี NGC 1961 ที่กางแขนอันงดงามภาพนี้ เป็นภาพใหม่ล่าสุดจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลของนาซา และแสงสีฟ้าของดาวฤกษ์อายุน้อยที่สว่างไสวอยู่บริเวณแขนที่หมุนอยู่รอบใจกลางของกาแล็กซี
NGC 1961 เป็นกาแล็กซีก้นหอย มีแถบดาวฤกษ์บริเวณใกล้ใจกลางที่ไม่สว่างชัดเจนมากนัก จึงจัดอยู่ในประเภทระหว่างกาแล็กซีก้นหอยแบบ “มีคาน” และ “ไม่มีคาน” ห่างจากโลกประมาณ 180 ล้านปีแสง ในกลุ่มดาวยีราฟ (Camelopardalis) ที่จุดศูนย์กลางของกาแล็กซีมีความสว่างมากกว่าบริเวณอื่น ๆ
เนื่องจากมีหลุมดำมวลยิ่งยวดที่กำลังดึงดูดมวลสารโดยรอบอย่างรุนแรง ทำให้เกิดการปลดปล่อยอนุภาคและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมา และเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการวิวัฒนาการกาแล็กซี
นักดาราศาสตร์เรียกใจกลางกาแล็กซีลักษณะนี้ว่า “Active Galactic Nuclei” หรือ “AGN” ซึ่งบางกาแล็กซีสามารถมี AGN ที่มีความสว่างมากกว่ากาแล็กซีทั้งกาแล็กซีเลยทีเดียว
ข้อมูลจากกล้องฮับเบิลที่นำมาประมวลผลเป็นภาพถ่ายนี้ เกิดจากงานวิจัย 2 หัวข้อ ได้แก่ การศึกษากาแล็กซีในแค็ตตาล็อก Arp ที่ยังไม่เคยมีการเก็บข้อมูลมาก่อน และการศึกษาดาวฤกษ์ที่อาจมีจุดจบเป็นซูเปอร์โนวา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเปิดภาพ "สองกาแล็กซี" ที่กำลังชนกัน
ทำลายสถิติ! "กล้องฮับเบิล" ค้นพบดาวฤกษ์ที่ไกลที่สุดเท่าที่เคยพบ