เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2565 เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2565 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เผยแพร่ข้อมูลจาก องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) เผยภาพถ่าย “เสาแห่งการก่อกำเนิด” ภาพล่าสุดจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์ โดยระบุว่า
ภาพบริเวณเล็ก ๆ ภายในเนบิวลานกอินทรีที่มีขนาดใหญ่กว่า 50 ปีแสง กลุ่มฝุ่นและแก๊สสีเหลืองสดใสที่เห็นในภาพเป็น “วัตถุดิบหลัก” ที่จะก่อตัวไปเป็นดาวฤกษ์ยุคใหม่ที่ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลังกลุ่มแก๊สอันหนาทึบเหล่านี้ ราวกับเป็นเสาหลักแห่งห้วงอวกาศที่คอยให้กำเนิดดาวฤกษ์ดวงใหม่ เป็นที่มาของชื่อ “Pillars of Creation” ซึ่งมีความหมายว่า “เสาแห่งการก่อกำเนิด”
ภาพ : NASA, ESA, CSA, STScI; Joseph DePasquale (STScI), Anton M. Koekemoer (STScI), Alyssa Pagan (STScI)
เสาแห่งการก่อกำเนิด อยู่ห่างออกไปจากโลก 6,500 ปีแสง เป็นเนบิวลาขนาดเล็กเพียง 4-5 ปีแสงที่อยู่ภายใน เนบิวลานกอินทรี (Eagle Nebula, M16) หากใครคุ้นเคยกับวงการภาพถ่ายดาราศาสตร์ก็น่าจะคุ้นหูชื่อเนบิวลาเหล่านี้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นเนบิวลาที่มีความสวยงามและสามารถบันทึกภาพได้ไม่ยากนัก
สำหรับภาพที่ทำให้ Pillars of Creation เป็นที่รู้จักมากที่สุด คือ ผลงานจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลที่ เผยแพร่เมื่อปี ค.ศ. 1995 หรือกว่า 27 ปีที่แล้ว เผยให้เห็นกลุ่มฝุ่นและแก๊สอันหนาทึบ และเป็นภาพที่มีโทนสีแตกต่างไปจากภาพล่าสุดนี้อย่างสิ้นเชิง
เนื่องจากฮับเบิลถ่ายภาพในช่วงคลื่นแสงที่ตามองเห็น และใช้ฟิลเตอร์กรองแสงในช่วงคลื่นเฉพาะ จึงประมวลผลภาพออกมาเป็นสีสันที่แตกต่างไปจากเจมส์ เว็บบ์
ภาพล่าสุดจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ไม่เพียงแต่เผยให้เห็นรายละเอียดและสีสันที่ต่างออกไป แต่ยังแสดงให้เห็นดาวฤกษ์ที่ซุกซ่อนอยู่ภายในฝุ่นอันหนาทึบเหล่านี้ได้อย่างชัดเจนมาก ซึ่งเป็นคุณสมบัติหลักของช่วงคลื่นอินฟราเรดที่สามารถทะลุฝุ่นหนาทึบเหล่านี้ได้ดี
ยิ่งรวมเข้ากับขนาดหน้ากล้องที่ใหญ่และอุปกรณ์ถ่ายภาพอย่างกล้อง NIRCam จึงทำให้ได้ภาพเนบิวลาอันโด่งดังแห่งนี้อย่างคมชัดแบบที่ไม่เคยมีกล้องใดทำได้มาก่อน ช่วยให้นักดาราศาสตร์ระบุจำนวนดาวฤกษ์เกิดใหม่ในเนบิวลาแห่งนี้ได้แม่นยำยิ่งขึ้น นำไปสู่การสร้างแบบจำลองการก่อกำเนิดดาว และการทำความเข้าใจกระบวนการก่อกำเนิดดาวฤกษ์ภายในเนบิวลานั่นเอง
ภาพ : NASA, ESA, CSA, STScI; Joseph DePasquale (STScI), Anton M. Koekemoer (STScI), Alyssa Pagan (STScI)
นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบแนวฝุ่นและแก๊สระหว่างภาพจากฮับเบิลกับภาพจากเจมส์ เวบบ์ จะพบว่าส่วนที่หนาทึบของฮับเบิลนั้น เป็นส่วนที่สว่างสีเหลืองสดใสของเจมส์ เวบบ์ เนื่องจากกลุ่มฝุ่นและแก๊สเหล่านี้มีอุณหภูมิต่ำ จึงไม่แผ่รังสีในช่วงคลื่นที่ตามองเห็น ฮับเบิลจึงมองเห็นกลุ่มฝุ่นนี้เป็นสีดำเข้ม
ขณะที่เจมส์ เว็บบ์สามารถมองเห็นรายละเอียดของแก๊สเหล่านี้ได้ชัดเจน เนื่องจากแก๊สอุณหภูมิต่ำเช่นนี้จะแผ่รังสีอินฟราเรดออกมา ทำให้เจมส์ เว็บบ์สามารถบันทึกรายละเอียดของกลุ่มแก๊สนี้ได้ ขณะที่แสงจากดาวฤกษ์พื้นหลังก็ยังสามารถทะลุฝุ่นเหล่านี้ออกมาได้อีกด้วย
อ้างอิง :
www.nasa.gov/.../nasa-s-webb-takes-star-filled...
https://hubblesite.org/.../images/1995/44/351-Image.html
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับกล้องโทรทรรศน์อวกาศ "เจมส์ เวบบ์"
กล้องโทรทรรศน์อวกาศ" กุญแจสำคัญไขความลับเอกภพ
กาแล็กซี NGC 1961 สุดอลังการจากกล้องฮับเบิลของนาซา
เปิดภาพ "กาแล็กซีล้อเกวียน จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ "เจมส์ เว็บบ์"
ภาพแรกสุดชัดจากเจมส์ เว็บบ์ "กระจุกกาแล็กซี SMACS 0723"