โรงพยาบาลในอังกฤษ ทดสอบแอปฯ โรคหอบหืดกำเริบในเด็ก

Logo Thai PBS
โรงพยาบาลในอังกฤษ ทดสอบแอปฯ โรคหอบหืดกำเริบในเด็ก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
โรงพยาบาล 2 แห่งในเขตนอร์ฟอล์ก ประเทศอังกฤษ ร่วมมือกับบริษัทด้านเทคโนโลยีในการพัฒนาแอปพลิเคชันมือถือ เพื่อป้องกันโรคหอบหืดกำเริบในหมู่เด็กและผู้ป่วยอายุน้อย

โรคหอบหืด เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ส่งผลให้มีอาการหายใจไม่สะดวก ไอเรื้อรัง เหนื่อยหอบ และแน่นหน้าอก เป็นโรคที่พบได้ทุกเพศทุกวัย และอาจทำให้เสียชีวิตได้หากมีอาการรุนแรง ดังนั้นผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นหอบหืด จึงต้องระมัดระวัง และดูแลตัวเองเป็นอย่างดี รวมถึงผู้ที่อยู่ใกล้ชิดก็จะต้องรู้จักสังเกตอาการและรู้ถึงวิธีช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหอบหืดด้วย

การมีเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยจัดการและรับมือกับโรคหอบหืด ไม่เพียงช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรับมือกับอาการของตัวเอง แต่ยังทำให้คนรอบข้างสามารถจัดการกับอาการของโรคนี้ให้ดียิ่งขึ้นด้วย โรงพยาบาลเด็กเจนนี่ ลินด์ (Jenny Lind) และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเจมส์ พาเก็ท (James Paget University) ได้ร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีในแคมบริดจ์เชียร์ เปิดตัวโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเด็กที่เป็นหอบหืด และช่วยลดจำนวนผู้ป่วยโรคหอบหืดในวัย 5 - 18 ปี ที่มีอาการแทรกซ้อนบ่อยครั้ง

แอปพลิเคชันนี้มีชื่อว่า Asthma+me เป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับโรคหอบหืดได้ นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์ขนาดเล็กที่ใช้เชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟน คอยเตือนว่าเมื่อไหร่ที่ควรใช้ยาพ่น หรือเครื่องช่วยหายใจ และยังมีเครื่องตรวจสอบการทำงานของปอดเพื่อแสดงให้เห็นว่าปอดของผู้ป่วยยังทำงานได้ดีอยู่หรือไม่

จุดมุ่งหมายของโครงการนี้ คือลดการเข้ารักษาที่โรงพยาบาลของผู้ป่วยโรคหอบหืด การนำเทคโนโลยีมาใช้จะช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถจัดการอาการของโรคหอบหืดได้ด้วยตัวเอง โดยที่แพทย์ยังคงติดตามอาการของผู้ป่วยได้ ซึ่งแอปพลิเคชันนี้สามารถระบุได้ว่าอาการของผู้ป่วยรายใดมีพัฒนาการดี และผู้ป่วยรายใดที่ต้องการการดูแลจากแพทย์มากขึ้น

แอปพลิเคชันจะช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถป้องกัน และรับมือกับอาการของโรคหอบหืดได้ดียิ่งขึ้น เพราะจะช่วยเตือนผู้ป่วยเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวเพื่อลดอาการ และยังช่วยแจ้งเตือนไปยังครอบครัวหรือผู้ดูแลหากอาการของผู้ป่วยแย่ลง พร้อมทั้งให้คำแนะนำถึงวิธีที่สามารถเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยได้ ในขณะเดียวกันทีมแพทย์ก็สามารถติดตามอาการของคนไข้ได้จากระยะไกล จึงเป็นการลดจำนวนความหนาแน่นของผู้รับการรักษาในโรงพยาบาลได้ ถือเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี

ที่มาข้อมูล: nnuh, edp24, bbc
ที่มาภาพ: freepik
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง