ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ดาราระดมทุน" ในมุมการตลาด

Logo Thai PBS
"ดาราระดมทุน" ในมุมการตลาด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ระดมทุนเหมือนกัน แต่กระแสสังคมกลับเห็นต่าง บางส่วนบอกว่าเป็น "สะพานบุญ" แต่อีกฝั่งมองว่าเป็น "นักบุญทุนคนอื่น" อะไรคือปัจจัยที่ทำให้การระดมทุนในแต่ละครั้งประสบความสำเร็จโดยไร้ข้อกังขา หรือได้เงินตามเป้าหมายแต่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์กลับมาเท่ากัน

ไทยพีบีเอสออนไลน์สัมภาษณ์ ผศ.ดร.ศิริรัตน์ โกศการิกา อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในมุมมองด้านการตลาดพบว่า แบรนด์สินค้า​ องค์กรหรือศิลปิน จะมีการใช้กลยุทธ์ทางการตลาด Cause Related Marketing​ หรือ การตลาดอิงกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ ซึ่งเป็นการทำกิจกรรมทางการตลาดรูปแบบหนึ่งของแบรนด์ ในการช่วยเหลือสังคม​ ในช่วงที่สังคมเดือดร้อนหรือเกิดวิกฤต การทำการตลาดเช่นนี้จะส่งผลให้ผู้บริโภค หรือลูกค้าของแบรนด์เกิดความรักและรู้สึกดีในแบรนด์และตัวบุคคลมากยิ่งขึ้น​ เพราะแบรนด์จะเป็น “ฮีโร่” ในใจของลูกค้านั่นเอง

อย่างไรก็ดี คอนเซปต์การตลาดแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคมไทย ซึ่งเป็นสังคมแห่งการช่วยเหลือ แบ่งปัน ซึ่งหากมองในมุมของพุทธศาสนา การช่วยเหลือก็เหมือนการทำบุญ และการทำบุญนั้นก็แบ่งได้ใหญ่ ๆ 2 ประเภท คือ ทำด้วยทุนทรัพย์ตัวเองทั้งหมด หรือเป็นสะพานบุญในการบอกบุญคนอื่นๆให้มาร่วมกัน คล้ายๆกับการทอดผ้าป่าสามัคคี

ในมุมมองของนักวิชาการด้านการตลาด มองว่า การระดมทุนเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่การที่จะระดมทุนให้ไม่เกิดความเคลือบแคลง และข้อกังขาต่างๆ จะต้องพิจารณาองค์ประกอบให้ครบทั้ง 3 ส่วน ได้แก่

1) ช่วงเวลาที่จะจัดกิจกรรมระดมทุน ต้องสอดคล้อง เหมาะสมกับกิจกรรม

2) บริบทของสังคมในช่วงนั้นๆ ว่ามีทิศทางเป็นอย่างไร

และ 3) ความจำเป็นและเร่งด่วนของหน่วยงานที่ได้รับการบริจาค ซึ่งจะขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปไม่ได้เลย

ผศ.ดร.ศิริรัตน์ ขยายความว่า ปัจจัยสำคัญในการทำ Cause Related Marketing ซึ่งประกอบด้วย ช่วงเวลา บริบทของสังคม ณ ขณะนั้น และความจำเป็นและเร่งด่วนของหน่วยงานที่ได้รับการบริจาคนั้น น้ำหนักจะเทไปที่ความเร่งด่วนของหน่วยงานที่รับบริจาค​ หากเดือดร้อนจริง มีความจำเป็นก็เดินหน้าทำได้เต็มที่ ไม่มีดรามาตามมาแน่นอน แต่หากสิ่งที่อยู่ตรงหน้าไม่ฉุกเฉิน แล้วเกิดสถานการณ์ที่ฉุกเฉินมากกว่า ก็อาจจะทำให้เกิดความเห็นต่างได้ เพราะยุคนี้เป็นยุคแห่งการแสดงความคิดเห็น

การตลาดไม่ใช่การทำความดีแบบปิดทองหลังพระ แต่เป็นการทำความดีแบบปิดทองที่พระพักตร์ของพระ จึงไม่แปลกที่จะเห็นเสื้อหรือถุงผ้ามีโลโก้แบรนด์ต่าง ๆ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่เรื่องสำคัญกว่าคือ การแสดงความโปร่งใสของทุกขั้นตอน รวมถึงหน่วยงานที่รับบริจาคต้องเดือนร้อนจริง​ ๆ ก็จะไม่เกิดคำถามจากสังคม​ เพราะเงินที่นำมาบริจาคไม่ใช่เงินของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเงินของหลาย​ ๆ​ คน 

ไม่ใช่เพียงผู้บริจาคเท่านั้น แต่ผู้รับบริจาคก็เป็นส่วนที่สังคมให้ความสนใจด้วยเช่นกัน หน่วยงานที่รับบริจาคมีความจำเป็น ขาดแคลน และต้องใช้อย่างฉุกเฉินหรือไม่ หากขาดแคลนจริงคนไทยซึ่งเป็นคนมีจิตอาสาก็พร้อมจะเข้าช่วยเหลืออยู่แล้ว

การระดมทุนก็เหมือนชวนกันทอดผ้าป่าสามัคคี มีเจ้าภาพอาจจะหนึ่ง หรือหลายคน แล้วมีการบอกบุญไปยังที่ต่างๆ เพื่อให้ได้ร่วมกันทำบุญด้วยกัน และถวายพร้อมๆกัน โดยจะให้เจ้าภาพเป็นตัวแทนในการนำไปถวายก็ได้

นอกจากนี้ เมื่อเปิดรับบริจาคแล้ว การมีบัญชีที่ชัดเจนก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ และบัญชีนั้นไม่ควรเป็นบัญชีส่วนตัวของใคร อาจเป็นบัญชีของมูลนิธิหรือบัญชีหน่วยงานที่ต้องการเงินบริจาค ส่วนกระบวนการใช้เงินก็ต้องชัดเจน แจกแจงได้ทั้งหมดเพื่อให้สังคมคลายความสงสัย หัวใจสำคัญคือการสื่อสาร เมื่อดึงทุกคนในสังคมมาร่วมกันทำบุญแล้ว ก็ต้องให้พื้นที่กับทุกคนด้วย ไม่ใช่การสาดแสงสปอร์ตไลต์ไปที่คนใดคนหนึ่ง

ส่วนกรณีการเห็นข่าวการบริจาคของผู้มีชื่อเสียงในนามส่วนตัวน้อยกว่าการจัดกิจกรรมระดมทุนนั้น ผศ.ดร.ศิริรัตน์ ให้ความเห็นว่า  "ประเทศไทยเป็นสังคมแห่งคอนเทนต์ การทำโปรเจกต์มีคอนเทนต์และพื้นที่สื่อยาวนานกว่าการบริจาคที่ไปถ่ายได้แค่รูปเดียว" อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด มองว่า สื่อมวลชนมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดกระแสการระดมทุน เพราะมีการให้พื้นที่นำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง แต่หากมีการนำเสนอการบริจาคโดยไม่คำนึงถึงยอดบริจาค หรือบอกว่าศิลปินคนนี้มีเงินไม่มาก แต่แบ่ง 5% ของรายได้บริจาค ก็อาจจะทำให้คนทำบุญในรูปแบบอื่นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจริง ๆ แล้วเชื่อว่ามีศิลปิน ดารา หรือคนดังทำบุญ ทำความดีโดยไม่ออกสื่ออยู่มาก แต่ในส่วนที่ออกสื่อเป็นการทำแคมเปญหรือโปรเจกต์ใหญ่ "ทำให้แคมเปญเหล่านี้ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด"

ผศ.ดร.ศิริรัตน์ ทิ้งท้ายกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า การทำการตลาดมีหลากหลายรูปแบบ แต่สิ่งที่ "โตโน่ ภาคิน คำวิลัยศักดิ์" กำลังถูกสังคมตั้งคำถามนั้น อาจมาจากหลายองค์ประกอบ ทั้งเรื่องของเวลาที่จัดกิจกรรม ที่เป็นช่วงฤดูฝน น้ำในแม่น้ำโขงอาจจะเชี่ยว และเกิดอันตรายในการว่ายน้ำในครั้งนี้ รวมไปถึงความจำเป็น และเร่งด่วนของหน่วยงานที่รับบริจาค ที่บางมุมของสังคมอยากเห็นรายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งการชี้แจงข้อมูลต่าง ๆ ต่อสังคม ด้วยความรวดเร็ว กระชับ โปร่งใส เป็นสิ่งที่จะลดการเกิดคำถามของสังคมได้เป็นอย่างดี

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง