เพจ Maesaipress และ เพจจอมเผือก นำเสนอข่าวตำรวจแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว พบยาบ้าสีเขียวประทับตรา Y1 300,000 เม็ด ในรถกระบะต้องสงสัยคันหนึ่งริมแม่น้ำโขง ตรงข้าม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย วันที่ 23 กันยายน ก่อนขยายผลถึงผู้ว่าจ้างกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง สัญชาติลาว พบยาบ้าในโกดังรวมกว่า 33 ล้านเม็ด ไอซ์ 500 กิโลกรัม
ที่มา : เพจ Maesaipress และ เพจจอมเผือก
ตราประทับและรูปแบบบรรจุภัณฑ์ของยาบ้า บ่งชี้ว่า แหล่งผลิตอยู่ในเขตอิทธิพลของกองกำลังสหรัฐว้า รัฐฉาน ประเทศเมียนมา ลำเลียงข้ามแม่น้ำโขง ทางเมืองสาด จ.ท่าขี้เหล็ก เตรียมส่งเข้าประเทศไทย
ผู้ต้องหา ให้การว่า รับจ้างขนยาเสพติดจากเมืองต้นผึ้ง สปป.ลาว ถึงชายแดนไทยด้านจังหวัดเชียงราย จากนั้นจะมีคนรับช่วงต่อ
พฤติการณ์ของผู้ค้ายาเสพติดกลุ่มนี้สอดคล้องกับรายงานการค้ายาเสพติดปี 2565 ของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNODC ที่ระบุว่า สปป.ลาว ถูกใช้เป็นพื้นที่ลำเลียงยาเสพติด เช่นเดียวกับ ประเทศไทย ที่กำลังรับมือกับการผลิตยาเสพติดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ
ศักยภาพผลิตสูง-ต้นทุนต่ำ-ยอดยึดพุ่ง
รายงานการค้ายาเสพติดปี 2565 ของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNODC ระบุว่า กว่าพันล้านเม็ด คือ จำนวนยาบ้าที่ถูกยึดได้ในเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นจำนวนรวมที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในจำนวนนี้ร้อยละ 88.6 ถูกยึดได้แถบแม่น้ำโขงตอนล่าง ส่งผลให้ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยกลายเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูงทันที
ปริมาณยาบ้าที่ถูกยึดเพิ่มสูงขึ้นในปีที่แล้ว สอดคล้องกับข้อมูลจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. ที่เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 จนถึง 31 สิงหาคม 2565 เพียง 10 เดือน เฉพาะประเทศไทย ยึดยาบ้าได้มากถึง 466 ล้านเม็ด แต่หากดูสถิติการตรวจยึดเมทแอมเฟตามีน ( ยาบ้าและไอซ์ ) จากปฏิบัติการร่วมแม่น้ำโขงปลอดภัย ซึ่งเป็นความร่วมมือ 6 ประเทศ ตั้งแต่ตุลาคม 2564 ถึงสิงหาคม 2565 ยึดยาบ้าได้ 594 ล้านเม็ด ไอซ์มากกว่า 18,000 กิโลกรัมและสารตั้งต้นผลิตยาเสพติดกว่า 1,500 ตัน
วิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. บอกว่า ขณะนี้ ยาบ้า 1 เม็ดมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 50 สตางค์ ราคาจะเพิ่มขึ้นเป็นเม็ดละ 2 – 4 บาท เมื่อมีการลำเลียงจากชายแดน และ เมื่อกระจายสินค้าเข้าประเทศไทย ราคาขายส่งอยู่ที่เม็ดละ 10 บาท ส่วนราคาขายปลีกเม็ดละ 15 บาท
กลุ่มผู้ผลิตยาบ้าในสามเหลี่ยมทองคำจากที่เคยใช้เครื่องอัดเม็ดยาบ้าแบบซิงเกิลพันซ์ 1 หัวตอก ผลิตได้ 64,800 เม็ดต่อวัน เมื่อปี 2536 ปัจจุบัน พัฒนาสู่การใช้เครื่องแบบไฮดรอลิก 30 หัวตอก ผลิตได้เกือบ 7 ล้านเม็ดต่อวัน นี่เป็นปัจจัยให้ราคาต้นทุนผลิตยาบ้าเหลือเพียง 50 สตางค์ต่อเม็ด
นี่เป็นเหตุหนึ่งที่มันเพิ่มขึ้นในเรื่องของการผลิตมันเพิ่มขึ้นด้วย วัตถุดิบมันไม่จำกัด เครื่องมือในการผลิตมันทันสมัยมากขึ้น
รายงานของ International Crisis Group องค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ เมื่อปี 2563 ระบุว่า กองกำลังสหรัฐว้า หรือ UWSA เป็นผู้ผลิตยาเสพติดรายใหญ่ในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ มาตั้งแต่ปี 2533 โดยได้รับการสนับสนุนจาก เหว่ย เซียะกัง ชายเชื้อสายจีน อดีตมือขวาขุนส่า เขาเคยถือสัญชาติไทย ก่อนถูกถอนสัญชาติเมื่อปี 2545 เนื่องจากมีพฤติการณ์กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ และ ถูกศาลฏีกาพิพากาษลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ในข้อหาร่วมกับพวกมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามนำออกนอกราชอาณาจักร
ที่มา : International Crisis Group
เหว่ย เซียะกัง ช่วยพัฒนาให้เมืองยอนเป็นศูนย์กลางผลิตยาบ้าและลำเลียงยาบ้าไปขายประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย เมื่อเข้าสู่ปี 2553 กองกำลังสหรัฐว้าเริ่มผลิตไอซ์เพื่อส่งออกควบคู่ไปกับยาบ้า นอกจากนี้ยังเริ่มส่งออกยาเสพติดไปยังบังกลาเทศซึ่งมีพรมแดนติดเมียนมา โดยอาศัยจ้างวานกลุ่มชาติพันธุ์หรือกองกำลังติดอาวุธอื่นๆ ช่วยลำเลียงยาเสพติด
ในรายงานของ International Crisis Group ยังระบุว่า การผลิตยาบ้าในปัจจุบันมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อ ส่วนประกอบ หรือ รูปแบบ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าแหล่งผลิตยาบ้าไม่ได้รวมศูนย์อยู่ที่เมืองยอนของกองกำลังสหรัฐว้าอีกต่อไป แต่กระจายอำนาจการผลิตไปยังกลุ่มอื่นๆ มากขึ้น ไม่มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งผูกขาดการค้าและการผลิตเหมือนยุคที่ขุนส่ายังมีอิทธิพล
สอดคล้องกับ ข้อมูลที่ได้จาก ป.ป.ส. ที่ระบุว่า กลุ่มผู้ผลิตยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำมี 7 กลุ่ม คือ ว้า โกก้าง กลุ่มเมืองลา ไทยใหญ่เหนือ คะฉิ่น มูเซอ และ อาข่า ซึ่งทั้งหมดอยู่ในรัฐฉาน
เป็นกลุ่มปกครองตนเองไม่ได้ขึ้นกับรัฐบาลเมียนมา จึงเหมาะกับการที่อำนาจรัฐเข้าไม่ถึง และ ยังเป็นทำเลที่เหมาะกับการลักลอบนำเคมีภัณฑ์จากประเทศที่ 3 เข้ามาทางเวียดนาม ทางลาว ผ่านไปที่แหล่งผลิต
มีอะไรในยาบ้า 1 เม็ด
ที่มา : สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ( UNODC )
ยาบ้าที่พบมากที่สุดในประเทศไทยปี 2564 ร้อยละ 73.5 อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่มีตัวเลข 999 รองลงมา คือ Y1 พบร้อยละ 13.2 ร้อยละ 13 เป็นตราสินค้าอื่นๆ เช่น 111 หรือ AP2020 ส่วนที่เป็นตัวเลข 1 หรือ 2 พบร้อยละ 0.1 ที่เหลืออีกร้อยละ 0.3 เป็นยาบ้าในบรรจุภัณฑ์ที่ไม่มีตราประทับ
ที่มา : สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ( UNODC )
กวินวดี ศุภพงษ์เทวาสกุล นักวิเคราะห์จากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNODC ให้ข้อมูลว่า ตราสินค้าที่พบบนบรรจุภัณฑ์ยาบ้า ยังมีข้อมูลจำกัดในแง่ความเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ผลิตแบบเฉพาะเจาะจง แต่การสร้างตราสินค้ารูปแบบใหม่ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น อาจหมายถึงการขยายฐานผลิตยาบ้าของกลุ่มผู้ผลิตอื่นๆ ในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ
มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ถูกระบุว่า เป็นแหล่งที่มาหลักของสารเคมีต่างๆ ที่ใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติด ก่อนขนส่งมายังห้องปฏิบัติการยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำโดยเฉพาะพื้นที่เมืองมูเซ่ (Muse) นามฮ์คาม (Namhkam) โหปัง (Hopang) เมืองเมา (Mongmao) ปางซาง (Panghsang) และเมืองลา (Mongla) เข้าสู่เขตรัฐฉานตอนใน อีกเส้นทางหนึ่ง เริ่มต้นจากแนวชายแดนของจีน ผ่านเวียดนาม ลาว เข้าสู่แหล่งผลิตยาเสพติดใน จ.ท่าขี้เหล็ก และ เมืองสาด เมียนมา
ที่มา : ฐานข้อมูลศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัย
ข้อมูลจาก UNODC ยังระบุว่า กลุ่มผู้ผลิตยาเสพติดมีกลยุทธ์ดัดแปลงสารเคมีชนิดใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้เป็นสารประกอบหัวเชื้อยาเสพติด (Pre- Precursors) ส่งผลให้การควบคุมสกัดกั้นเป็นไปอย่างยากลำบากเพราะมีข้อจำกัดทางกฎหมาย
สถิติการตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนจากปฏิบัติการร่วมแม่น้ำโขงปลอดภัย ซึ่งเป็นความร่วมมือ 6 ประเทศ ตั้งแต่ตุลาคม 2564 ถึง สิงหาคม 2565 ยึดยาบ้าได้ 594 ล้านเม็ด ไอซ์มากกว่า 18,000 กิโลกรัม และสารตั้งต้นผลิตยาเสพติดกว่า 1,500 ตัน
สารเคมีที่ยึดได้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีทั้งเคมีภัณฑ์ประเภทสารควบคุมระดับสากล และ สารเคมีไม่ควบคุม มีโครงสร้างทางเคมีใช้เป็นสารตั้งต้นผลิตยาเสพติดสังเคราะห์เมทแอมเฟตามีน
เมื่อนำเมทแอมเฟตามีน ( ยาบ้า – ไอซ์ ) ที่พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาจำแนก UNODC พบว่า สารตั้งต้นในการผลิตหลักประกอบด้วยสารควบคุมระดับสากล 7 ชนิด เช่น อีเฟดรีน และ ซูโดอีเฟดรีน ซึ่งอยู่ในกลุ่มเคมีภัณฑ์จำเป็นในอุตสาหกรรมยารักษาโรค และ ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 จึงมีการควบคุมการใช้และครอบครอง รวมถึงการนำเข้า-ส่งออกระหว่างประเทศ
ที่มา : สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ( UNODC )
นอกจากนั้น ยังพบ เฟนีล-2-โพรปาโนน หรือ P-2-P เคมีภัณฑ์ลักษณะเป็นของเหลวเหนียวใส ใช้ในการผลิตแอมเฟตามีน และอุตสาหกรรมน้ำยาทำความสะอาด
ที่น่าสนใจคือ หนึ่งในสารเคมีที่ใช้เป็นสารตั้งต้นสังเคราะห์ P-2-P ที่ใช้เป็นสารตั้งต้นผลิตยาบ้าและไอซ์ คือ โซเดียมไซยาไนด์ ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำ
ข้อมูลจาก ป.ป.ส.ระบุว่า โซเดียมไซยาไนด์ 1 กิโลกรัม ราคา 100 บาท ผลิตยาบ้าได้ 22,000 เม็ด และผลิตไอซ์ได้ 0.44 กิโลกรัม เฉพาะปี 2565 มีการขออนุญาตนำเข้า 1156.80 ตัน ส่งออกไปเมียนมา 810 ตัน
ล่าสุด รัฐบาล กำหนดให้การควบคุมการนำเข้า – ส่งออกสารเคมีตั้งต้นที่นำไปใช้ผลิตยาเสพติด “โซเดียมไซยาไนต์” เป็นหนึ่งในมาตรการแก้ปัญหายาเสพติดของรัฐบาล รวมทั้ง เร่งติดตามจับกุมทำลายเครือข่ายนักค้ายาเสพติดและยึดอายัดทรัพย์สิน ทบทวนกรณีผู้เสพเป็นผู้ป่วยโดยเฉพาะประเด็นปริมาณการครอบครองยาเสพติด เพื่อนำไปสู่การบำบัดฟื้นฟู และ เร่งค้นหาคัดกรองผู้ติดยาเสพติดในแต่ละพื้นที่เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟู