วันนี้ (24 ต.ค.2565) แกนนำพรรคเพื่อไทย ลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี เป็นครั้งแรก เพื่อพบปะประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ,น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย,นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค, นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พร้อมด้วย ส.ส.พรรคเพื่อไทย
คณะเพื่อไทย ลงพื้นที่ อ.วารินชำราบ เพื่อเยี่ยมและสอบถามความเดือดร้อนของประชาชนผู้ประสบภัย พร้อมพบปะประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงกว่า 100 คน
จุดดังกล่าวน้ำท่วมมาเกือบ 2 เดือน ซึ่งน้ำท่วมหนักกว่าปี 2562 โดยระดับน้ำที่ท่วมสูงกว่า 3 ม.และยังไม่สามารถประเมินได้ว่า สถานการณ์น้ำจะคลี่คลายได้เมื่อใด
ประชาชนต่างบอกว่าต้องการกลับบ้าน โดยเรียกร้องว่า หลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายลงขอให้ช่วยเหลือดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
น.ส.แพทองธาร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย กล่าวว่า ได้รับฟังเสียงสะท้อนของประชาชนหลายคน รู้สึกเห็นใจและต้องการส่งกำลังใจ เพราะประชาชนได้นับผลกระทบนานเกือบ 2 เดือนแล้ว และมาพักชั่วคราวที่ศูนย์อพยพ และน้ำยังไม่ลดลง
ประชาชนประสบความยากลำบาก ไม่ได้เตรียมตัวก่อนน้ำมาเร็ว และยอมรับว่าเสียดายที่ ส.ส.ไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ ด้วยกฎกติกาการเลือกตั้ง
แต่ความลำบากของประชาชนหากรัฐบาลไม่สามารถดูแลประชาชนได้ทั่วถึง ก็ต้องกระจายการช่วยเหลือเพราะทุกอย่างไม่ใช่เพียงเรื่องการหาเสียง แต่เป็นการช่วยเหลือประชาชนในประเทศ
เพราะฉะนั้นต้องระดมกำลังให้ได้เยอะที่สุด เพื่อให้ประชาชนออกจากปัญหา ใช่เพียงมองว่าใครจะได้เสียงคะแนนนิยมการเลือกตั้ง
สอดคล้องกับ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า รัฐบาลต้องให้ความสำคัญทุกมิติ ทั้งระยะสั้น-ระยะกลาง-ระยะยาว โดยเฉพาะความเป็นอยู่ของประชาชน ต้องดูแลให้เต็มที่ ประชาชนหลายคนต้องทิ้งบ้านเรือนไว้ต้องดูแล และต้องจัดเวรยามดูแลป้องกันการขโมย
รวมถึงการชดเชยเยียวยา บ้านและพื้นที่ทำมาหากิน และระบุว่า ได้รับเสียงสะท้อนเรื่องการเตือนภัย เพราะปีนี้ประชาชนเก็บของไม่ทัน เพราะไม่มีรายละเอียดแจ้งเตือน ซึ่งรัฐต้องแก้ไข และสุดท้ายมาตรการแก้ปัญหาระยะยาว
นอกจากนี้ แกนนำเพื่อไทยได้กล่าวกับประชาชนผู้ประสบภัย ช่วงหนึ่งว่า หากได้รับความเดือดร้อนให้แจ้งกับ ส.จ. และ ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย
พร้อมกล่าวว่า เมื่อเปิดสมัยประชุมรัฐสภา พรรคการเมืองฝ่ายค้านจะนำเรื่องปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเข้าหารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือร่วมกัน
ขณะที่ในช่วงบ่าย คณะเพื่อไทยเดินทางไปลงเรือที่ชุมชนกุดคูณ เพื่อเยี่ยมผู้ประสบภัยที่ถูกน้ำท่วมตามบ้านเรือน ประมาณ 10 หลังคาเรือน และดูสภาพสุนัขจรจัด ที่หนีน้ำท่วม ประมาณ 300 - 400 ตัว