ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ร้องสอบ "กสทช." รับทราบควบรวม "ทรู - ดีแทค" เข้าข่ายผิด ม.157

เศรษฐกิจ
26 ต.ค. 65
11:41
285
Logo Thai PBS
ร้องสอบ "กสทช." รับทราบควบรวม "ทรู - ดีแทค" เข้าข่ายผิด ม.157
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กมธ.ป.ป.ช.สภาฯ รับเรื่องร้องสอบ กสทช. รับทราบการควบรวมทรู-ดีแทค เข้าข่ายกระทำการขัดต่อ กฎหมายอาญามาตรา 157

วันนี้ (26 ต.ค.2565) พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการ ป.ป.ช.สภาฯ รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่ม
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สภาองค์กรของผู้บริโภค ขอให้สอบข้อเท็จจริง กรณีการควบรวมกิจการทรูกับดีแทค​โดยอ้างอิงว่า มีกรรมการ กสทช.บางท่านอาจเข้าข่ายการกระทำผิด​กฎหมายอาญามาตรา 157

อ้างอิงว่า เมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา มีการลงมติของคณะกรรมการ กสทช.มติ 2:2:1 มี 2 เสียงรับทราบการควบรวมโดยไม่ต้องขออนุญาต และ 2 เสียงคัดค้าน อีก 1 เสียงงดออกเสียง

ตั้งข้อสังเกตว่า การลงมติต้องถือเสียงข้างมากเด็ดขาด และต้องการกึ่งหนึ่ง ประธานถึงจะชี้ขาดได้ อีกประเด็นสำคัญคือ เห็นว่า การควบรวมครั้งนี้เป็นกิจการโทรคมนาคมขนาดใหญ่ มูลค่า 200,000 ล้านบาท

ตามประกาศ กสทช.หากจะมีการเข้าร่วมต้องใช้ประกาศปี 2561 ที่กำหนดไว้ว่า หากเป็นกิจการประเภทเดียวกัน ต้องปฏิบัติตามข้อ 8 ของประกาศปี 2549 ซึ่งหมายความว่า กสทช.มีอำนาจในการอนุญาตในการให้ควบรวมหรือไม่ให้ควบรวม แต่ กสทช.ทำหน้าที่เพียง "การรับทราบ" โดยเฉพาะมีกรรมการ 1 คน งดออกเสียง

ทำให้สภาองค์กรผู้บริโภคเห็นว่า น่าจะเข้าข่ายการปฎิบัติหน้าที่ หรือ การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ และเมื่อติดตามข้อเท็จจริงยังพบว่า กทสช.ดำเนินการไม่ครบถ้วน ตามกระบวนการของกฎหมาย เช่น การไม่รับฟังความคิดเห็นที่เกี่ยวกับมาตรการหลังจากการรับทราบการควบรวมว่า มีการกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไร ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและอาจทำให้ไม่เกิดการลงทุนในพื้นที่ห่างไกล ทำให้คนจนพื้นที่ชายขอบจะเข้าไม่ถึงบริการทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

น.ส.สารี กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เช่น การอนุญาตให้บริษัทต้องใช้โครงข่ายร่วมกัน ซึ่ง กสทช.บังคับอยู่แล้ว หรือการให้ราคาลดลง 12% ในข้อเท็จจริงราคาลดลงทุกปี 20% ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้บริษัทสามารถตั้งราคาบริการที่แพง แต่ กสทช.ไม่รอพิจารณา ทำให้ กสทช.ยืนยันได้ชัดเจนว่า ไม่ควรควบรวมบริษัท 2 บริษัท นำมาสู่การผูกขาดของ 2 บริษัททำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกและทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าบริการแพง 244.5% ทำให้เป็นภาระของผู้บริโภค

เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ยังกล่าวถึงข้อมูลว่า บริษัทที่ปรึกษามีหนึ่งในผู้ถือหุ้นบริษัทซึ่งเป็นเจ้าของกิจการในการควบรวมทรูดีแทคจึงทำให้พบว่า อาจมีความไม่โปร่งใสและไม่เป็นอิสระและมีผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกัน

อาจจะเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้การตัดสินใจควบรวมเป็นการปฎิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบตามกฏหมาย ซึ่งหลังจากนี้ สภาองค์กรผู้บริโภคจะดำเนินการทางกฎหมายคู่ขนานต่อไปอีกทางหนึ่งด้วย

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ตั้งข้อสังเกตว่า ตามกฎหมายคณะกรรมการที่พิจารณาจะต้องมี 7 คน ทำไมในการลงมติจึงมีเพียง 5 คน ไม่รอกระบวนการคัดเลือกกรรมการให้ครบก่อนจึงพิจารณาวาระเรื่องการควบรวมทรู-ดีแทค โดยสงสัยว่าเหตุใดกระบวนการจึงเร่งรีบผิดสังเกต ซึ่งไม่ทราบว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนใดหรือไม่ เพราะหากไม่มีคงไม่รีบดำเนินการแบบนี้ และเห็นใจประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการควบรวมกิจการดังกล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ปิดดีลทรู-ดีแทคสู่ยุค 4.0 คาดแชร์ส่วนแบ่งตลาด 2.17 แสนล้าน 

"เศรษฐพงศ์" ชี้ควบรวม"ทรู-ดีแทค" ใช้ประกาศปี 61 ไม่ต้องขออนุมัติ 

องค์กรเพื่อผู้บริโภค ค้าน "ทรู - ดีแทค" ควบรวมกิจการ ชี้กระทบผู้บริโภค  

กสทช. เตรียมสรุปควบรวม "ทรู-ดีแทค" 12 ต.ค.นี้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง