ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อีก 90 วัน กฎหมายคุมคดีทางเพศ ใช้มาตรการทางการแพทย์

สังคม
27 ต.ค. 65
14:22
677
Logo Thai PBS
อีก 90 วัน กฎหมายคุมคดีทางเพศ ใช้มาตรการทางการแพทย์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ประกาศในราชกิจจาฯ แล้ว กฎหมายป้องกันทำผิดซ้ำคดีเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง มีผล 90 วัน นับแต่วันที่ประกาศ

เมื่อวันที่ 26 ต.ค.65 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาลง วันที่ 24 ต.ค.2565 เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังการก่ออาชญากรรมและสร้างความปลอดภัยให้สังคม รวมถึงแก้ปัญหาและลดอัตราการกระทำความผิดซ้ำ

จากข้อมูลของกระทรวงยุติธรรม พบว่า ผู้กระทำผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง เมื่อพ้นโทษแล้ว จะกระทำความผิดซ้ำในระยะเวลา 3 ปี มากกว่าร้อยละ 50 จึงมีความจำเป็นต้องออกกฎหมายฉบับนี้ขึ้น

กฎหมายฉบับนี้ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง อาทิ

  • กำหนดให้มีคณะกรรมการ 2 ชุด คือ คณะกรรมการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ มีหน้าที่ เช่น กำหนดนโยบายและแผนการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิด ให้คำปรึกษาแลข้อเสนอแนะ และคณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ มีหน้าที่ เช่น กำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ เป็นต้น
  • มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด เช่น พนักงานอัยการมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ใช้มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดในระหว่างรับโทษจำคุก เพื่อป้องกันไม่ให้กระทำความผิดซ้ำ ด้วยมาตรการทางการแพทย์ หรือมาตรการอื่น ๆ ที่ รมว.ยุติธรรม กำหนดในกฎกระทรวง
  • มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ หากมีเหตุให้เชื่อว่านักโทษเด็ดขาดจะกระทำความผิดซ้ำภายหลังพ้นโทษ ศาลอาจมีคำสั่งกำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษได้ เช่น ห้ามเข้าใกล้ผู้เสียหาย ห้ามทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด ห้ามเข้าเขตกำหนด ห้ามออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล ห้ามก่อให้เกิดอันตรายต่อละแวกชุมชนที่ตนพักอาศัย ให้พักอาศัยในสถานที่ที่กำหนด เป็นต้น
  • มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ ศาลอาจมีคำสั่งให้ใช้มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษแก่นักโทษเด็ดขาด หากศาลเห็นว่ามีเหตุเชื่อได้ว่าผู้นั้นจะไปกระทำความผิดซ้ำ และไม่มีมาตรการอื่นใดที่อาจป้องกันไม่ให้ไปกระทำความผิดได้
  • การคุมขังฉุกเฉิน กรณีมีเหตุเชื่อได้ว่าผู้ถูกเฝ้าระวังจะกระทำความผิดและมีเหตุฉุกเฉิน หากไม่มีมาตรการอื่นที่อาจป้องกันไม่ให้ผู้ถูกเฝ้าระวังกระทำความผิดได้ เมื่อพนักงานอัยการร้องขอ ศาลอาจสั่งคุมขังฉุกเฉินผู้ถูกเฝ้าระวังได้ไม่เกิน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง

ทั้งนี้ ให้นำพระราชบัญญัติดังกล่าวไปใช้บังคับกับคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาล รวมถึงกรณีที่จะมีการปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาด ซึ่งเป็นผู้กระท้าความผิดตามที่กำหนดอยู่ในวันก่อนวันที่กฎหมายนี้ใช้บังคับด้วย

มีผลบังคับใช้ ม.ค.66 

น.ส.รัชดา สรุปเพิ่มเติมว่า กฎหมายป้องกันการทำผิดซ้ำคดีเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง ที่จะมีผล 23 ม.ค.2566 กระทรวงยุติธรรม โดยสำนักงานกิจการยุติธรรม สรุปกฎหมายฉบับนี้ เป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้มีความทันสมัยตามหลักสากล โดยการการกำหนดให้มีมาตรการพิเศษทางกฎหมายและทางปฏิบัติ เพื่อแก้ไขฟื้นฟู ป้องกัน และเฝ้าระวังการก่ออาชญากรรมสะเทือนขวัญ สร้างความปลอดภัยให้สังคม รวมถึงแก้ไขปัญหาและลดการกลับมากระทำผิดซ้ำ

ทั้งนี้ใช้บังคับกับผู้ที่ทำความผิด 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.คดีเพศ เช่น ข่มขืนกระทำชำเราทั้ง เด็ก/ผู้ใหญ่ อนาจารเด็กไม่เกิน 15 ปี และเด็ก 15 - 18 ปี

2.คดีชีวิตและร่างกาย เช่น ฆ่าคนตาย ฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ทำร้ายจนได้รับอันตรายสาหัส 3.คดีเรียกค่าไถ่ โดยเน้นการใช้มาตรการที่เหมาะสมกับการแก้ไขฟื้นฟู/รักษา ผู้กระทำความผิด มากกว่าการลงโทษ โดยมี 4 มาตรการ ได้แก่

1. มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดระหว่างรับโทษในเรือนจำ คือ มาตรการทางการแพทย์ที่ได้รับความยินยอมจากผู้กระทำผิด หรือ มาตรการอื่นใดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกำหนด

2. มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ ไม่เกิน 10 ปี เช่น ติดกำไล EM รายงานตัว เข้ารับการรักษาห้ามเข้าใกล้ผู้เสียหาย พักอาศัยในสถานที่ที่กำหนด

3. มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ ไม่เกิน 3 ปี เช่น ควบคุมตัวผู้พันโทษที่มีความเสี่ยงจะทำผิดซ้ำในคดีอุกฉกรรจ์ ฝ่าฝืนเงื่อนไขการเฝ้าระวัง

4. การคุมขังฉุกเฉิน ไม่เกิน 7 วัน ถ้าผู้ถูกเฝ้าระวังจะทำผิดซ้ำหรือมีเหตุฉุกเฉิน และไม่มีมาตรการอื่นใดที่จะยับยั้งการทำความผิดหรือการก่อเหตุซ้ำได้ พนักงานฝ่ายปกครอง ตำรวจ เข้าจับกุม/ควบคุมตัวได้ ไม่เกิน 48 ชม. แล้วพนักงานคุมประพฤติเสนอความเห็นต่อพนักงาน อัยการยื่นคำร้องต่อศาลขอคุมขังฉุกเฉิน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง