ความคืบหน้ากรณีมูลนิธิคุ้มครองเด็กชื่อดัง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ถูกร้องเรียนพฤติกรรมทำร้ายร่างกายเด็ก และนำเด็กไปทำงานในรีสอร์ตของภรรยา
วันนี้ (3 พ.ย.2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศเช้านี้ ที่มูลนิธิคุ้มครองเด็กของนายมนตรี สินทวิชัย หรือครูยุ่น เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก พบว่าผู้ปกครองเด็กที่นำเด็กมาฝากไว้ ยังทยอยเข้ามารับลูกหลานตัวเอง เพื่อกลับบ้านแต่บางคนมาแล้วไม่พบมีผู้ดูแล
ทางมูลนิธิฯ บอกว่า เมื่อวานนี้ (2 พ.ย.) มีเจ้าหน้าที่ พม.มารับเด็กไป ทำให้ผู้ปกครองหลายคนไม่พอใจ ที่มารับเด็กไปโดยไม่ได้รับอนุญาต พากันโวยวาย และบอกให้มูลนิธิดังกล่าวนำบุตรหลานมาคืนก่อน
"ครูยุ่น" เข้ารับทราบข้อกล่าวหาวันนี้
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สอบถามไปที่ สภ.อัมพวา ยืนยันว่าครูยุ่น ติดต่อเข้ามารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.อัมพวา ซึ่งขณะนี้มีสื่อมวลชนจำนวนมาก มารอทำข่าว ขณะที่ยังไม่ใครมาแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มในคดีที่เกี่ยวข้อง
ก่อนหน้านี้ นายมนตรี เปิดเผยว่า ยังไม่อยากพูดอะไรมาก เพราะคดีอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ และยังมีข้อเท็จจริงที่ต้องพิสูจน์
ยันใบอนุญาตมูลนิธิฯ หมด ม.ค.2566
นายศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า การตรวจสอบการจดทะเบียนมูลนิธิ เป็นอำนาจของกระทรวงมหาดไทย ส่วนกระบวนการต่อใบอนุญาตสถานรับเลี้ยงเด็ก จะพิจารณาต่อใบอนุญาตรายปี และตรวจสอบความเป็นอยู่ภายในสถานรับเลี้ยงทุก ๆ 6 เดือน
ซึ่งมูลนิธิที่ปรากฎเป็นข่าว จะครบวาระในเดือน ม.ค.2566 ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างเสนอผู้ว่าฯ พิจารณาว่าจะปิดหรือถอดถอนใบอนุญาตหรือไม่
ที่ผ่านมาไม่มีสัญญาณอะไรจากเด็ก จากนี้จะเร่งหาข้อสรุป 2 ส่วน คือการย้ายเด็กออกจากมูลนิธิฯ และพิจารณารายละเอียดเรื่องการหยุดดำเนินการของมูลนิธิ
นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า อยู่ระหว่างการพิจารณาถอนใบอนุญาตจัดตั้งสถานรับเลี้ยง แต่ในตอนนี้โฟกัสเรื่องความปลอดภัยของเด็กเป็นสำคัญ
การปิดมูลนิธิเด็ก ให้เป็นเรื่องพิจารณาของคณะทำงานของผู้ว่าฯ แต่ต้องหารือกันอย่างรอบคอบ ความสำคัญอยู่ที่การดูแลให้ปลอดภัย
ไทยพีบีเอส พูดคุยกับพยานคนหนึ่ง ระบุว่า เมื่อประมาณ 7-8 ปีก่อน เคยเห็นผู้ก่อเหตุพาเด็กจากมูลนิธิ เข้ามาทำงานสวนในรีสอร์ต และเคยเห็นการลงโทษเด็กโดยการสั่งให้เด็กจับคู่ลงโทษกันเอง
อดีตเด็กมูลนิธิฯ ยันไม่เคยถูกเฆี่ยนตี
หนึ่งในผู้ที่เคยอยู่มูลนิธิคุ้มครองเด็ก ซึ่งขณะนี้อายุ 38 ปี เคยอยู่มูลนิธินี้ตั้งแต่อายุ 12-18 ปี เมื่อจบ ม.6 เธอจึงออกมามีครอบครัว เเละประกอบอาชีพค้าขายที่ จ.นครศรีธรรมราช
เธอบอกว่า ช่วงที่อยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิ ช่วง ม.ต้น ได้รับการเลี้ยงดูแบบเด็กทั่วไป ตื่นเช้า แบ่งเวรกันทำความสะอาด จากนั้นก็ไปโรงเรียนที่อยู่ไม่ไกลจากมูลนิธิ เธอเเละเพื่อนไม่เคยถูกลงโทษ ด้วยการเฆี่ยนตี ซึ่งถ้าทำผิด เช่น ส่งเสียงดัง จะถูกว่ากล่าวตักเตือน หรือโทษหนักสุด คือ การลอกท่อ
ไม่มีการลงโทษโดยการตีเด็ก ถูกลงโทษ แค่ทำความสะอาด เก็บขยะในท่อ ครูยุ่นใจดี
อ่านข่าวเพิ่ม
เด็กทยอยออกจากมูลนิธิฯ สมุทรสงคราม หลังปมทำร้าย-ใช้แรงงาน