ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เส้นทาง 30 ปี "มูลนิธิคุ้มครองเด็ก" ก่อนถูกร้องปมทำร้าย

สังคม
3 พ.ย. 65
19:16
1,340
Logo Thai PBS
เส้นทาง 30 ปี "มูลนิธิคุ้มครองเด็ก" ก่อนถูกร้องปมทำร้าย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นับตั้งแต่จดทะเบียนเป็นมูลนิธิบ้านครูยุ่น ก่อตั้งมาเกือบ 30 ปีแล้ว ช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหา ถูกทอดทิ้ง รวมทั้งช่วยเหลือเด็กในคดีถูกข่มขืนและกระทำอนาจารมากว่า 400 คดี กระทั่งพบข้อร้องเรียนปมทำร้าย-ใช้แรงงานเด็ก

เมื่อค้นหา "มูลนิธิคุ้มครองเด็ก" ในเฟซบุ๊ก จะพบเพจที่เกี่ยวข้อง 2 เพจ แต่ละเพจเป็นเพจเก่าที่ไม่ค่อยมีความเคลื่อนไหว โดยมีภาพผู้ที่เข้ามาบริจาคเงินและสิ่งของตั้งแต่ปี 2558 หรือ 7 ปีก่อน

จากสูจิบัตร นายมนตรี สินทวิชัย หรือครูยุ่น เล่าว่า จุดเริ่มต้นของมูลนิธิฯ เริ่มจากการไปเห็นเด็กเร่ร่อนที่สนามหลวง เมื่อ 40 ปีก่อน จึงรวมตัวกับเพื่อน ๆ ไปสอนหนังสือ และลงขันกันเลี้ยงอาหาร ทำแบบนั้นอยู่ 6 ปี จนเข้าใจปัญหาของเด็กที่ถูกรังแก

กระทั่งปี 2534 ได้เช่าอาคารพาณิชย์ในซอยลาดพร้าว 106 จัดตั้งเป็น "บ้านคุ้มครองเด็ก" และจดทะเบียนเป็น "มูลนิธิคุ้มครองเด็ก" ในอีก 3 ปีต่อมา

ปี 2540 สามารถสร้างบ้านหลักแรกแทนการเช่า ตามมาด้วยหลังที่ 2 ที่มีอาคารออกกำลังกายให้เด็ก ๆ

ในปี 2544 ได้ย้ายเด็กมาพักที่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเด็กที่ประสบปัญหาถูกทอดทิ้งและถูกรังแก ทั้งเด็กที่ถูกละเมิดสิทธิ, ล่วงละเมิดทางเพศ, ถูกทำร้าย ทารุณ, นำไปค้าประเวณี หรือถูกบังคับให้ขอทาน ปัจจุบันมีเด็กอยู่ในความดูแล 55 คน โดยมีนายแก้วสรร อติโพธิ เป็นประธานมูลนิธิ และนายมนตรี เป็นเลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก

ที่นี่เป็นมูลนิธิ นิติบุคลตามกฎหมาย เป็นองค์กรสาธารณะกุศลที่ไม่แสวงหากำไร และดำเนินงานจากเงินบริจาค โดยไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ ที่เห็นสร้างบ้านได้หลาย ๆ หลัง ตลอดเกือบ 30 ปี เป็นการใช้เงินบริจาคทั้งหมดและจะอยู่ในความดูแลของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.สมุทรสงคราม ซึ่ง พม.จังหวัด จะเข้าไปตรวจทุก ๆ 6 เดือน ในเรื่องสภาพแวดล้อม สุขอนามัย รายรับรายจ่าย และความปลอดภัยของเด็ก เพื่อประเมินต่อใบอนุญาตทุก ๆ 1 ปี

นายมนตรี มีประสบการณ์ช่วยเหลือเด็กในคดีถูกข่มขืนและกระทำอนาจารกว่า 400 คดี ในฐานะเลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก เขาเคยให้ความเห็นเกี่ยวกับเด็กหลายครั้ง เช่น แนะให้ใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก แก้ไขปัญหาแว้นซิ่ง, แนะให้สื่อระวังการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเด็กที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะอาจละเมิดสิทธิเด็ก

นักสิทธิเด็ก ชี้ไม่ควรกระทำรุนแรงต่อเด็ก

สังคมเกิดคำถามทันทีว่า การดูแลเด็กในสถานสงเคราะห์ หากเด็กกระทำผิดแล้วขอบเขตการลงโทษเด็กอยู่ตรงไหน ตีได้หรือไม่ โดย น.ส.วาสนา เก้านพรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงมาจากครอบครัว บอกว่า บุคลากรที่รับผิดชอบดูแลเด็กของมูลนิธิจะต้องเป็นผู้ที่ประกอบวิชาชีพทั้งหมด ทั้งนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา นักกฎหมาย และการดูแลเด็กที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมจะไม่กระทำความรุนแรง

ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก มองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ภาครัฐ โดยเฉพาะกรมกิจการเด็กและเยาวชนที่ดูแลมูลนิธิ องค์กรเกี่ยวกับเด็ก ต้องกลับมาทบทวนหลักการประเมินผู้ที่ประเมินเป็นใคร ในฐานะผู้จดทะเบียน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ครูยุ่น" รับทราบข้อหาคดีทำร้ายเด็ก-ให้การปฏิเสธ 

"ครูยุ่น" มูลนิธิคุ้มครองเด็ก เปิดใจเคลียร์ทุกคำถาม ปมทำร้ายเด็ก - ใช้แรงงาน 

พม.รับดูแลเยาวชน 29 คน จากสถานสงเคราะห์ จ.สมุทรสงคราม 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง