ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ท่องจักรวาล "บอร์ดเกม" ในงาน Thai Board Game Creators

ไลฟ์สไตล์
4 พ.ย. 65
11:05
1,239
Logo Thai PBS
ท่องจักรวาล "บอร์ดเกม" ในงาน Thai Board Game Creators
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เมื่อเกมไม่ได้ให้เพียงความสนุก แต่ยังช่วยฝึกทักษะทางความคิดและคำนวณ พร้อมสอดแทรกวัฒนธรรม ความเชื่อ และความรู้ต่าง ๆ ร่วมท่องจักรวาล "บอร์ดเกม" ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคตบอร์ดเกมไทย ในนิทรรศการ Thai Board Game Creators ที่ TCDC ย่านเจริญกรุง

เสียงหัวเราะ และพูดคุยกันที่ดังขึ้นจากโต๊ะตัวหนึ่งที่มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ล้อมวงกันอยู่ 4-5 คน ในพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการโครงการ Creative & Design Showcase บนชั้น 5 ของศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ หรือ TCDC ย่านเจริญกรุง หลัง เอ็ก - พีรัช ษรานุรักษ์ (Wizards of Learning) ตัวแทนในนามสมาคมบอร์ดเกมประเทศไทย และ มีน - นคร เจียมเรืองจรัส เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการ นำทางไทยพีบีเอสออนไลน์เดินเข้าไปสู่จักรวาล "บอร์ดเกมคนไทย" ในโครงการ Creative & Design Showcase กิจกรรมส่งเสริมธุรกิจในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ “Thai Board Game Creators” 

พื้นที่ตรงนี้นอกจากให้ดูนิทรรศการข้อมูลให้คนได้รู้จักจักรวาลบอร์ดเกมตั้งแต่อดีต ปัจจุบันไปจนถึงอนาคตแล้ว เรายังให้ยืมบอร์ดเกมจากผู้จัดแสดงมาให้ผู้เข้าร่วมงานยืมเล่นได้ด้วย พ่อแม่พาลูกมาก็จะได้เล่น ครูพานักศึกษามาก็จะได้รู้จักบอร์ดเกมมากยิ่งขึ้น

เอ็ก - พีรัช เล่าที่มาของโชว์เคสในครั้งนี้ว่า เมื่อพูดถึงบอร์ดเกม บางคนอาจจะยังคิดว่า บอร์ดเกมเป็นอย่างไร มีประเภทไหนบ้าง ทางสมาคมจึงพยายามรวบรวมบอร์ดเกมจากทั้งนักออกแบบที่ทำเอง ขายเอง หรือบอร์ดเกมของหน่วยงานที่ต้องการสื่อสารประเด็นทางสังคมที่แตกต่างกัน ทั้งยังมีหน่วยงานเปิดพื้นที่ให้ครูออกแบบบอร์ดเกมประกวดเพื่อเป็นสื่อการเรียนการสอน หรือบอร์ดเกมจากนักศึกษาและมหาวิทยาลัยก็นำมาจัดแสดงในงานนี้ด้วย

ขณะที่ มีน - นคร ระบุว่า TCDC กรุงเทพ เปิดพื้นที่ให้ผู้คนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ได้มาแสดงผลงาน โดยมีผลงานบอร์ดเกมที่ CEA ได้พัฒนาร่วมกับ Wizard of Learnings มาโชว์ด้วย อย่างเกม “Match My Meal ถาดหลุมสุ่มเมนู” ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากโครงการ Lunch & Learn ภายใต้งาน Isan Creative Festival 2021 ที่ จ.ขอนแก่น

หลังมีมติ ครม.ปรับค่าอาหารกลางวันเริ่มต้นเป็นมื้อละ 21 บาท นักออกแบบ คุณครู นักโภชนาการ ก็ได้มาร่วมกันออกแบบเมนูอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะกับเด็กวัยประถมศึกษา ด้วยความสำเร็จของโครงการนี้ จึงถูกนำมาต่อยอดเป็นบอร์ดเกม

เอ็ก – พีรัช เสริมว่า “Match My Meal ถาดหลุมสุ่มเมนู” ได้โจทย์มาว่าเด็ก ๆ ชอบเมนูอะไรบ้าง และอยากให้เกิดการสร้างสรรค์เมนู จึงคิดว่าภาพจำวัยเด็กของอาหารโรงเรียน คือ ถาดหลุม เป็นช่อง ๆ เกิดเป็นเกมให้เด็ก ๆ เลือกผสมเมนูที่ชอบมาใส่ประกอบกันเป็นถาดหลุมในฝันที่ได้เรียนรู้เรื่องโภชนาการ ให้เด็กเล่นได้

นี่คือข้อดีของบอร์ดเกม มันไม่มีผิด ไม่มีถูก เด็ก ๆ เอาไปลองเล่นตามโรงเรียน ฟีดแบ็กดีมาก ไม่อยากเลิกเล่นกันเลย ตอนนี้ก็มี Print & Play Board Game ให้โรงเรียนได้ดาวน์โหลดไปให้เด็ก ๆ เล่นกันได้ด้วย

โต๊ะที่อยู่ถัดไปไม่ไกลจาก “Match My Meal ถาดหลุมสุ่มเมนู” คือ บอร์ดเกมจาก BGN บอร์ดเกมไนท์ ที่ขนบอร์ดเกมมาโชว์ในงานถึง 3 เกม คือ KongKang, Lotto และ Reboot โดย วัฒน์ - วัฒนชัย ตรีเดชา ผู้ผลิตรายการบอร์ดเกมไนท์ (BGN) แห่งช่อง TVmunk รายการบอร์ดเกมออนไลน์ เล่าถึงแรงบันดาลใจในการออกแบบว่า บอร์ดเกมบางเกมอาจมีกำแพงบางอย่างที่ทำให้คนทั่วไปเมื่อเดินผ่านมาแล้วอาจไม่เข้าใจว่าเล่นอย่างไร จึงตัดสินใจทำบอร์ดเกมที่เล่นง่าย และสนุก หวังให้คนเดินผ่านแล้วมาดูก็เข้าใจได้ทันที

อย่าง KongKang เกิดจากเพื่อนเอาไพ่ของภาคใต้ที่ชื่อว่า แคง มาให้เล่นเราก็รู้สึกว่ามันสนุก และมีความเป็นไทยด้วย ก็หยิบตรงนั้นมาดัดแปลง ใส่ความสามารถพิเศษเข้าไป ทำ Art work น่ารัก ๆ ให้เล่นกันได้ทั้งในครอบครัวหรือกับเพื่อน เป็นเกมที่สนุก เข้าใจง่าย จบไว แต่เจ็บใจนาน

ไม่เพียงแต่ Kongkang เท่านั้นที่นำความเป็นไทยมาผสมผสานเข้าไปในบอร์ดเกม แต่ยังมีบอร์ดเกมฝีมือคนไทยอีกหลายเกมที่ได้สอดแทรกทั้งความเชื่อ วิถีชีวิต รวมถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างความเข้าใจให้สังคมผ่านบอร์ดเกม อย่างบอร์ดเกม "ผี พระ เจ้า" ที่สื่อสารเรื่องศาสนาและความหลากหลายทางวัฒนธรรมหรือ หรือเกมหมุนเวียน เพื่อขับเคลื่อนเรื่องอคติทางวัฒนธรรม เป็นประเด็นอคติในไร่หมุนเวียน โดยมีการจำลองสถานการณ์การทำไร่หมุนเวียน ให้ผู้เล่นสวมบทเป็นชาวบ้านปกาเกอะญอ ลองจัดการป่า จัดการไร่หมุนเวียน เพื่อความยั่งยืน จากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) อีกด้วย 

อั๋น - ชนาธิป ทองจันทร์ หนึ่งในทีมพัฒนาบอร์ดเกม ระบุว่า ศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธร ทำงานเกี่ยวกับมนุษยวิทยา และโบราณคดีมานานกว่า 30 ปี หนึ่งในภารกิจสำคัญ คือ งานพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ และเครื่องมือการเรียนรู้ที่น่าสนใจ คือ บอร์ดเกม จึงฟอร์มทีมใหม่ขึ้นมาจากผู้เล่นบอร์ดเกมเป็นงานอดิเรกมาพัฒนางานขับเคลื่อนสังคมโดยเฉพาะ

นอกจากเกมทั้ง 2 เกมแล้ว ศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธร ยังมีบอร์ดเกม "เครื่องมือ 7 ชิ้น" เกมการใช้เครื่องมือของนักมานุษยวิทยาเพื่อศึกษาชุมชน เพื่อให้ผู้เล่นได้จำลองประสบการณ์ก่อนลงพื้นที่ภาคสนามจริง ผ่านชุมชนบ้านกุดตะโก หมู่บ้านอายุ 100 ปี ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนเข้าใจการทำงานของนักมานุษยวิทยามากยิ่งขึ้นมาจัดแสดงอีกด้วย

บอร์ดเกมที่ถูกนำมาจัดแสดงในงานนี้ เรียกได้ว่ามีทั้งบอร์ดเกมเพื่อความบันเทิง และอัดแน่นไปด้วยสาระความรู้ โดยหลังเปิดมานานกว่า 1 เดือน มีผู้เข้าชมนิทรรศการแล้วกว่า 9,000 คน นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 4 เป็นหนึ่งในคนที่ไม่ได้ตั้งใจจะเข้ามาชมนิทรรศการ แต่เมื่อเข้ามาก็ได้เห็นบอร์ดเกมตั้งอยู่มากมายจึงหยุดดูข้อมูล เพราะปกติชอบเล่นบอร์ดเกมอยู่แล้ว 

ปกติเล่นบอร์ดเกมอยู่แล้วครับ เคยเล่นพวก Werewolf กับเพื่อน นอกจากสนุกแล้วบอร์ดเกมยังทำให้รู้จักเพื่อนมากขึ้นด้วย ตอนผมเข้าปีหนึ่งใหม่ ๆ ก็เล่นบอร์ดเกมด้วยกันทำให้คุยกับเพื่อนได้ง่ายขึ้น

หลังจากดูนิทรรศการนี้ ทำให้ได้รู้จักบอร์ดเกมคนไทยมากขึ้น ได้รู้ไอเดียและเห็นดีไซน์ จึงเข้าใจว่าคนไทยมีศักยภาพไม่แพ้กับนักออกแบบบอร์ดเกมต่างประเทศ หลังจากนี้หากมีโอกาสก็พร้อมที่จะสนับสนุนและเล่นบอร์ดเกมฝีมือคนไทยต่อไป

หากใครที่สนใจก็สามารถเดินทางไปเข้าชมและเล่นบอร์ดเกมกันได้ ที่นิทรรศการ “Thai Board Game Creators” จะจัดแสดงตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 18 ธ.ค.2565 ที่อาคาร TCDC ชั้น 5 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง