ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อุทยานฯ ปรับ 5,000 บาท กระบะยั่วยุช้างป่าเขาใหญ่

Logo Thai PBS
อุทยานฯ ปรับ 5,000 บาท กระบะยั่วยุช้างป่าเขาใหญ่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ระบุคนขับรถกระบะเร่งเครื่องยั่วยุ-ถ่ายภาพช้างบนเขาใหญ่ จนหวิดถูกช้างทำร้าย เข้ามาเสียค่าปรับ 5,000 บาทตามมาตรา 20 พ.ร.บ.อุทยานฯ 2562 กำชับห้ามทำผิดซ้ำ เตือนนักท่องเที่ยวอ่านกฎระเบียบและทำตามอย่างเคร่งครัด

กรณีพบนักท่องเที่ยวฝ่าฝืนระเบียบขับเข้าไปใกล้กับช้างป่า "พังแม่ด้วน" พร้อมกับเร่งเครื่องยนต์ และหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายรูป ในลักษณะท้าทายและมีผู้นำไปแชร์ต่อในสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก

วันนี้ (7 พ.ย.2565) นายชัยยา ห้วยหงษ์ทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ล่าสุดเจ้าหน้าที่ตามตัวนักท่องเที่ยวคนดังกล่าวแล้ว พบว่าเป็นชาวบ้านในพื้นที่ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยผู้ก่อเหตุอ้างว่าไม่มีเจตนายั่วยุช้าง แต่ที่เปิดประตูออกมาถ่ายภาพเพราะต้องการนำไปให้ลูกดูเท่านั้น

 

เบื้องต้นได้มีการปรับเงินแล้ว 5,000 บาท ตามมาตรา 20 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ มาตรา 20 พ.ศ.2562 โดยไมได้มีการขึ้นแบลกลิสต์เรื่องการห้ามขึ้นเขาใหญ่ แต่หากผิดซ้ำโทษปรับครั้งที่ 2 จะเป็น 20,000 บาทและครั้งที่ 3 จำนวนเงิน 100,000 บาท และคนที่ก่อเหตุสัญญาว่าจะไม่กระทำแบบนี้อีก

สั่งประชาสัมพันธ์เคร่งครัดระเบียบ

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กล่าวอีกว่า สำหรับคำเตือนและแนวปฏิบัติในการขึ้นเขาใหญ่มีการติดไว้ทางขึ้นเขาใหญ่ทั้งฝั่งปากช่องและด่านเนินหอม รวมทั้งจะมีการแจ้งประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสาย

โดยเจ้าหน้าที่อุทยานบริเวณทางขึ้นด่านเพิ่มเติมในระหว่างที่นักท่องเที่ยวรอจ่ายเงินค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานฯ เพราะตอนนี้อยู่ในช่วงไฮซีซั่นเริ่มมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าพื้นที่มาสัมผัสอากาศหนาวเย็นบนเขาใหญ่อย่างต่อเนื่อง

กรณีที่เกิดขึ้นเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ห้ามเลียนแบบ แม่ช้างนำโขลงตัวนี้ถือว่ายังใจดี แม้จะแสดงอารมณ์โมโหสุดๆ ถึงขั้นหูกาง ช้างชี้ ส่งเสียงร้องขู่เสียงดัง จึงเตือนนักท่องเที่ยวให้เคารพกติกา

นอกจากนี้ ขอย้ำข้อระเบียบที่สำคัญ ประกอบด้วย ห้ามให้อาหารสัตว์ป่า ห้ามทิ้งขยะ ห้ามขับรถเร็วเกิน 60 กม.ต่อชม. ห้ามส่งเสียงดัง และห้ามนำสัตว์เลี้ยง เข้าไปในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

อ่านข่าวเพิ่ม รถกระบะขับรถ-เร่งเครื่องยั่วยุ ช้างป่าเขาใหญ่

เปิดระเบียบเที่ยวอุทยานไม่ให้ผิดระเบียบ

  • หยุดรถให้ห่างจากช้างอย่างน้อย 30 เมตร หากช้างเดินเข้าหา ให้เคลื่อนรถหนีด้วยการถอยหลังอย่างมีสติ รอจนกว่าช้างจะหลบจากถนน จึงเคลื่อนรถผ่านไป
  • อย่าใช้แตรรถ หรือส่งเสียงดังรบกวนช้างหรือไล่ช้าง เพราะอาจทำให้ช้างโกรธ และตรงเข้ามาหาเราได้ เนื่องจากช้างป่า ประสาทหูจะดีมาก เสียงแตรแหลมๆ จะทำให้ช้างตกใจและโกรธ
  • งดการใช้แฟลชถ่ายรูป เพราะอาจทำให้ช้างตกใจ ตรงเข้ามาทำร้ายได้ และทำให้ช้างเกิดการสนใจเดินเข้ามาหา เพราะช้างตกใจแล้วตกใจเลย หายยาก
  • ให้ติดเครื่องรถยนต์ไว้เสมอ เพื่อให้สามารถเคลื่อนรถหนีได้ทันท่วงที และเสียงเครื่องยนต์รถที่ติดเครื่องดังทุ้มๆ จะไม่ทำให้ช้างนั้นตกใจ ไม่เครียด และคุ้นเคย เพราะได้ยินเสียงและรู้ว่านี่คือรถยนต์

อ่านข่าวเพิ่ม อย่าเลียนแบบ! 4 นาทีเสี่ยงตายเผชิญ "พลายงาทอง" บนเขาใหญ่

สังเกตอารมณ์ช้าง-ดับเครื่องยนต์

  • หากพบช้างในเวลากลางคืน ให้เปิดไฟรถไว้เสมอ เพื่อให้สามารถสังเกตอาการของช้างและระยะห่างระหว่างรถกับช้างได้โดยสะดวก ห้ามเปิดกะพริบ เพราะแสงจะเข้าตา และดึงดูดให้ช้างเกิดความสนใจ เดินเข้ามาหา
  • ประสาทสัมผัสของช้างที่ดีที่สุดคือ หู จมูก และตา ถ้าดับเครื่องยนต์ ช้างจะเข้าใกล้เพื่อใช้ประสาทสัมผัสอย่างอื่น นั่นคือการดม ดู และสัมผัส นั่นหมายถึง ช้างเข้ามาหาแล้ว เขาแค่แตะๆ แต่ด้วยกำลังมหาศาล รถก็เสียหายได้
  • เมื่อตกอยู่ในวงล้อมของช้าง ตั้งสติให้มั่น หากเป็นเวลากลางคืน ให้ใช้ไฟต่ำ และอย่าเปิดกะพริบ แล้วเลือกเคลื่อนรถไปในทางที่มีช้างอยู่น้อย แม้บางครั้งจำเป็นต้องเข้าใกล้หรือเบียดโขลงช้างไปก็ตาม อย่าดับเครื่องยนต์ และปิดไฟรถเป็นอันขาด ค่อยๆเคลื่อนรถ ให้เสียงเครื่องยนต์นิ่งมากที่สุด
  • ไม่ควรจอดรถดูช้าง เพราะอาจมีรถคันอื่นตามมา แล้วรถของคุณกีดขวางรถผู้อื่น จนเป็นเหตุให้ถูกทำร้ายแทนรถ
  • สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งเมื่อรถจอดเรียงกันบนถนน ความสามัคคีจะต้องเกิดขึ้น ไม่ว่าคันที่อยู่ใกล้ช้างหรืออยู่ไกลช้างก็ล้วนเป็นผู้ประสบเหตุทั้งสิ้น ดังนั้นหากรถคันหน้าเปิดไปถอยรถ คันข้างหลังถัดไปก็ให้ถอยรถอย่างมีสติ
  • ไม่ควรจอดรถแล้วลงไปถ่ายรูปช้างในระยะใกล้ เพราะอาจทำให้คุณวิ่งหนีขึ้นรถไม่ทัน ควรระลึกอยู่เสมอๆ ว่า โดยทั่วไปช้างมักจะอยู่รวมกันเป็นครอบครัวหรือฝูง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

10 ข้อปฏิบัติเมื่อเจอช้างป่าบนถนนเขาใหญ่

“พลายดื้อ” กลับมาแล้วปลอกคอหลุด เตือนตกมัน-เสนอย้าย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง