ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จ่อโดน 2 ข้อหาสาวกิน "ซุปค้างคาว" ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครอง

สิ่งแวดล้อม
9 พ.ย. 65
12:23
2,173
Logo Thai PBS
จ่อโดน 2 ข้อหาสาวกิน "ซุปค้างคาว" ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครอง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมอุทยานฯ ลงสอบสวนข้อเท็จจริง สาวสร้างคอนเทนต์โชว์กิน "ซุปค้างคาว" โดนวิจารณ์ยับจนต้องลบทิ้งคนร้องสายด่วน 1362 ตรวจสอบเบื้องต้นพบกินค้างคาวเพดานเล็ก สัตว์ป่าคุ้มครอง ขณะที่ผลวิจัยค้างคาวไทยเจอไวรัสโคโรนา โรคเมอร์ส

กรณีสัตวแพทย์ เตือนสาวกินซุปค้างคาว เพื่อสร้างคอนเท็นต์ในโลกออนไลน์ จนเกิดกระแสวิจารณ์วงกว้าง เนื่องจากค้างคาว ถือเป็นพาหะนำโรคอุบัติใหม่หลายชนิด

วันนี้ (9 พ.ย.2565) นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ขณะนี้มอบหมายให้สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า และเจ้าหน้าที่จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 (อุดรธานี) เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง และเอาผิดตามกฎหมายอย่างถึงที่สุดโดยเรื่องดังกล่าว นอกจากเป็นกระแสวิจารณ์ในโลกออนไลน์แล้ว ยังมีผู้ร้องเรียนมายังสายด่วนกรมอุทยานฯ 1362 ด้วย  

 เบื้องต้นพบว่าค้างคาวที่กินโชว์ เป็นค้างคาวเพดานเล็ก ซึ่งอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ถ้าพิสูจน์ชัดเจนผู้โพสต์คลิปกินซุปค้างคาวจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562

อ่านข่าวเพิ่ม ประกาศตามตัว! สาวเปิบพิสดารกิน "ค้างคาว" รีบพบหมอด่วน

พบกินค้างคาวเพดานเล็ก-สัตว์ป่าคุ้มครอง

ด้านนายเผด็จ ลายทอง ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ ระบุว่า ขณะนี้ทีมเจ้าหน้าที่ชุดเหยี่ยวดง และส่วนอรุรักษ์สัตว์ป่า เข้าสอบสวนผู้ที่โพสต์คลิปกินซุปค้างคาวอย่างละเอียด โดยจะต้องเก็บหลักฐานทั้งชิ้นส่วนเนื้อ กระดูก และสอบสวนเส้นทางการได้มาของค้างคาว ที่นำมากิน

เบื้องต้นทราบว่ามีการนำมาจากต้นไม้หลังบ้าน โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าเข้าข่ายล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือเพียงแค่การครอบครองซากสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งโทษตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่จะต่างกัน

ถ้ามีการล่าค้างคาว จะมีความผิดโทษจำคุก 1 ปีปรับ 1 ล้านบาท และถ้าครอบครองซากสัตว์ป่าโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 500,000 บาท

นายเผด็จ กล่าวอีกว่า กรณีดังกล่าวผู้โพสต์คลิปไม่สามารถปฏิเสธความผิดได้ เหมือนกับกรณีอื่นๆ เช่น เคสกินเนื้องู เพราะมีการโชว์การกินค้างคาวผ่านโซเชียล ซึ่งถือเป็นหลักฐานสำคัญ 

สำหรับค้างคาวเพดานเล็ก (Scotophilus kuhlii) อยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองลำดับที่ 47 ในไทยเจอได้ทั่วประเทศ จัดว่าเป็นค้างคาวขนาดกลาง-ค่อนข้างใหญ่ ขนสั้น สีน้ำตาล แต่จุดเด่นคือที่ท้องสีจะออกเหลืองจาง ๆ ชอบเกาะนอนได้ทั้งตามโพรงไม้ ทะลายปาล์ม ใบตาลหรือใบมะพร้าวแห้ง ซอกหิน ใต้หลังคา

ขณะที่พบว่าคลิปโชว์กินซุปค้างคาว ที่เคยโพสต์ไว้ล่าสุดมีการลบคลิปดังกล่าวออกจากโชเซียลแล้ว 

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

เปิดผลวิจัยโรคค้างคาวในไทย

ข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า ที่มีการศึกษาการคาดการณ์ไวรัสจากสัตว์ป่า เพื่อการเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่จากสัตว์ป่าสู่คนในอนาคต โดยเฉพาะค้างคาวเป็นแหล่งรังโรคของไวรัสโคโรน่า ซารส์ และเมอร์ส

ประเทศไทยมีรายงานการตรวจพบไวรัสสายพันธุ์ (lineage) เดียวกับ SARS-CoV ในค้างคาวหน้ายักษ์สามหลืบ (Hipposideros larvatus) และสายพันธุ์ MERS-CoV จากมูลค้างคาวไม่ทราบชนิด และยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยค้างคาวอย่างน้อย 139 สปีชีส์ทั่วประเทศ ซึ่งรวมทั้งค้าวคาวไผ่ ค้างคาวลูกหนู และค้างคาวปีกถุง ที่มีรายงานการพบไวรัสสายพันธุ์เดียวกับ MERS-CoV ในต่างประเทศ

คณะผู้วิจัย ได้มีการศึกษาในค้างคาว 645 ตัวรวม 33 สปีชีส์ที่เก็บตัวอย่างระหว่างปี พ.ศ.2554-2558 ในพื้นที่ 10 จังหวัด (13 แหล่ง) โดยใช้ตัวอย่างมูลค้างคาวที่เก็บโดยวิธี rectal swab นำมาสกัดสารพันธุกรรมและตรวจด้วยวิธี PCR ในตำแหน่งยีน RNA-dependent RNA polymerase

ผลการตรวจพบไวรัสโคโรน่า 57 ตัวอย่าง คิดเป็น 8.8% โดยพบไวรัส aphaCoV 19 ตัวอย่าง betaCoV 36 ตัวอย่าง และพบไวรัส 2 genus ในค้างคาวตัวเดียวกัน จำนวน 2 ตัวอย่าง

รวมทั้งพบไวรัสสายพันธุ์ MERS-CoV ซึ่งอยู่ในกลุ่ม betaCoV lineage C จำนวน 8 ตัวอย่าง จากค้างคาวไผ่หัวแบน (Tylonycteris robustula) จำนวน 2 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นค้างคาว genus เดียวกับที่พบเชื้อไวรัสนี้ในประเทศจีน และค้างคาวปากย่น (Chaerephon plicata) จำนวน 6 ตัวอย่าง ซึ่งยังไม่มีการรายงานมาก่อน

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

 

นอกจากนี้ ยังพบไวรัสสายพันธุ์ SARS-CoV จากค้างคาวมงกุฎมลายู (Rhinolophus malayanus) จำนวน 2 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นค้างคาว genus เดียวกับที่พบเชื้อไวรัสนี้ในประเทศจีน

การตรวจพบไวรัสสายพันธุ์ MERS-CoV และ SARS-CoV จากตัวอย่างค้าง คาวในไทย เป็นสัญญาณเตือนให้มีการเฝ้าระวังการแพร่เชื้อไวรัสข้ามสายพันธุ์ไปยังสัตว์อื่น ที่อาจกลายพันธุ์ติดต่อสู่คนได้ในอนาคต

รวมทั้งการติดต่อสู่คนได้โดยตรง นอกเหนือไปจากความเสี่ยงจากการติดเชื้อจากผู้ป่วย MERS-CoV ซึ่งปัจจุบันพบผู้ป่วยในไทยแล้ว 2 คน จากผู้ป่วยชาวโอมาน ซึ่งผลการถอดรหัสพันธุกรรม whole genome พบว่าจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับไวรัสที่พบการระบาดที่ประเทศเกาหลีในปี พ.ศ.2558  

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง