แม้เหตุการณ์ 13 หมูป่า ติดถ้ำหลวง จ.เชียงราย จะผ่านมากว่า 4 ปี แต่ความร่วมมือ ที่ทุกคนไม่แบ่งเชื้อชาติ ศาสนา ยังอยู่ในความทรงจำของผู้ที่อยู่ในเหตุเธอไม่ลืมเลือน
"โซเฟีย ไทยอนันต์ " กลุ่มสตรีชาวมุสลิม ใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ครั้งนี้ ด้วยการทำเมนูข้าวหมกไก่
ที่เป็นเมนูหลัก ที่ทำให้กับอาสาสมัครกู้ภัย รวมทั้งกู้ภัยชาวมุสลิม ที่อาสาเข้ามาช่วย 13 ชีวิตให้รอดออกมาจากถ้ำหลวง ได้รับประทาน
วินาทีนั้นไม่มีเชื้อชาติ ไม่เผ่าพันธุ์ ไม่มีศาสนา คือความเป็นหนึ่งเหมือนเราอยู่ด้วยกัน นำความรัก ความห่วงใย ต้องการบรรลุวัตถุประสงค์ไปแบบเดียวกันโดยไม่มีอะไรแบ่งแยกได้เลย
เช่นเดียวกับ ชาวบ้านชาติพันธุ์อาข่า หมู่บ้านผาหมี ต.เวียงพางคำ อ.ม่สาย ที่มีส่วนสำคัญ ร่วมกับทีมอาสาสมัครเปิดทางน้ำออกจากถ้ำหลวง
รวมถึง ชาวนาใน ต.โป่งผา อ.แม่สาย ที่ยอมสละพื้นที่ปลูกข้าวที่กำลังเติบโตให้ถูกน้ำท่วมเพื่อช่วยเหลือ 13 ชีวิต
เราไม่แบ่งแยกชาติพันธุ์ ที่เข้าไปมีอาข่า ไทยใหญ่ คนไทย เด็ก 13 คนมีหลายชนเผา เราไม่คิดอะไร พยายามจะช่วยเหลือเขา
ขณะที่ กมล คุณงามความดี อดีตนักสำรวจถ้ำหลวงชาวไทย คู่กับ "เวิส์น อันสเวิร์ด" ชาวอังกฤษ ที่วันนี้เขากลายเป็นเจ้าหน้าที่ประจำถ้ำหลวง ทุกครั้งที่ว่างเว้นจากภารกิจหลัก เข้ามักจะมายืนดูภาพวาดบุคคลที่มีส่วนสำคัญในภารกิจกู้ภัย ภายในอาคารของอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง
แม้ในรูปภาพนั้นจะไม่มีภาพของเขา เขายืนยันว่า การกู้ภัยครั้งนั้นก็สำเร็จได้เพราะทุกคนด้วยการหลอมจิตใจเข้าเป็นหนึ่งเดียว
เหตุการณ์ผ่านมา 4 ปี มองย้อนหลังกลับมา เอาความหลอมรวมเหล่านี้ เจตนาที่ดีมาใช้เป็นศูนย์กลางของประประชุมครั้งนี้ ถ้ามองแต่ผลประโยชน์ก็จะเกิดความขัดแย้ง
ขณะที่ อนุสาวรีย์นาวาตรีสนาน กุนัน หรือ จ่าแซม ที่ตั้งตระหง่านกลางอุทยานฯ แม้วันนั้นจะต้องสูญเสียจ่าแซมไป แต่อนุสาวรีย์กลายเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือ ร่วมใจของบุคคลต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนาว่า เมื่อใดก็ตามหากทุกคนร่วมมือและมีเป้าหมายเดียวกัน ก็จะสามารถชนะอุปสรรคก้าวไปถึงความสำเร็จนั้นได้
เช่นเดียวกับการประชุมเอเปคที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในกลางเดือน พ.ย.นี้จะเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ครั้งสำคัญของประเทศที่เข้าร่วมประชุม ว่าหากทุกประเทศสามารถหลอมรวมใจเป็นหนึ่ง จะเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่สามารถฟันฝ่าอุปสรรคที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนี้ได้