วันนี้ (10 พ.ย.2565) นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ชุดปฏิบัติการทีมสุนัขดมกลิ่น ด่านกักกันสัตว์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมินำสารวัตรบีเกิล ออกปฏิบัติงานตรวจสอบการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์-ซากสัตว์ ทั้งขาเข้าและขาออกบริเวณอาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะเที่ยวบินที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงได้แก่ ประเทศกัมพูชา มาเลเซีย ไต้หวัน ลาว เวียดนาม และจีน
นายสัตวแพทย์สมชวน กล่าวอีกว่า ล่าสุดสารวัตรบีเกิ้ล ตรวจพบสัมภาระต้องสงสัยจากเที่ยวบินที่มาจากเมืองคุนหมิง ประเทศจีน เจ้าหน้าที่จึงเปิดออกตรวจโดยละเอียด พบว่าซุกซ่อนซากสัตว์เข้ามาดังนี้ ค้างคาวรมควัน 1 ถุง น้ำหนัก 2.5 กิโลกรัม ขาหมูรมควัน 1 ถุง น้ำหนัก 2.5 กิโลกรัม หมูสามชั้นรมควัน 1 ถุง น้ำหนัก 4.5 กิโลกรัม
ภาพ:กรมปศุสัตว์
อ่านข่าวเพิ่ม น่ารัก "หมาบีเกิล" สกัดจับหมูยอนำเข้าจากเวียดนาม
ตะลึง เจอค้างคาวรมควันครั้งแรก
ด้าน สพ.ญ.ณัฐกานต์ คุรุพันธ์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ ว่า สำหรับบีเกิลที่ปฏิบัติภารกิจตรวจจับค้างคาวรมควัน ชื่อ "ฮีโร่" เป็นบีเกิลตัวผู้ รุ่นที่ 2 อายุ 8 ปี ซึ่งได้เข้าประจำสายพานที่ 21 สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อเวลา 12.00 น.เที่ยวบิน KY 8369 สายการบินคุนหมิงแอร์ เดินทางมาจากท่าอากาศยานนานานชาติชางซุ่ย คุนหมิง ประเทศจีน
ภาพ:กรมปศุสัตว์
ถือเป็นครั้งแรกที่ทั้งสารวัตร ด่านตรวจและทีมบีเกิล ได้เจอซากค้างคาวรมควัน ยอมรับว่าตกใจที่มีการแอบนำค้างคาว คาดว่าจะเป็นค้างคาวแม่ไก่เพราะ 2 ตัวหนักกว่า 2 กก. ห่อซีลพลาสติกมาเป็นอย่างดีพร้อมกับขาหมู และหมูสามชั้นรมควัน
สพ.ญ.ณัฐกานต์ กล่าวอีกว่า สำหรับซากค้างคาวรมควัน ซึ่งลักลอบนำเข้ามาในช่วงที่ประเทศไทย กำลังมีข่าวเรื่องการบริโภคซุปค้างคาว แม้จะไม่ได้เชื่อมโยงกัน เพราะผู้ที่ลักลอบนำเข้ามาเป็นคนจีน และนำมาจากจีน แต่ค่อนข้างแปลกใจ เรื่องการบริโภคสัตว์แปลกโดยเฉพาะค้างคาวที่มีคนบอกว่าเป็นยาโปว ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงต่อโรคที่มีค้างคาวเป็นพาหะของโรคได้ จึงได้ส่งไปทำลายซากทันที
ภาพ:กรมปศุสัตว์
ชี้ความผิดตามพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์
สำหรับการลักลอบนำซากสัตว์เข้ามาในไทย ถือเป็นการกระทำผิดตามมาตรา 31 แห่งพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 เจ้าหน้าที่จึงอายัดและเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
ขณะนี้อยู่ระหว่างขออนุมัติทำลายตามระเบียบกรมปศุสัตว์ เพื่อเฝ้าระวังโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) จากซากสุกร ซึ่งโรค ASF เป็นโรคติดเชื้อในสุกร
ภาพ:กรมปศุสัตว์
ส่วนโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ที่มีค้างคาวเป็นแหล่งรังโรค โดยเชื้อไวรัสนิปาห์ จะก่อให้เกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรงของระบบหายใจ เกิดภาวะสมองอักเสบจนอันตรายถึงชีวิตได้ ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ขอให้ประชาชนรับประทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกและไม่รับประทานสัตว์แปลก เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดโรคดังกล่าว
ภาพ:กรมปศุสัตว์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง