ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"กาตาร์" กับรอยด่างเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022

ต่างประเทศ
10 พ.ย. 65
15:19
1,622
Logo Thai PBS
"กาตาร์" กับรอยด่างเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"กาตาร์" เจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั้งปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงการปฏิบัติต่อแรงงานต่างชาติอย่างไม่เป็นธรรม แต่แม้มีเรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้น การแข่งขันฟุตบอลโลกในกาตาร์ก็ยังดำเนินไปตามกำหนด

นับตั้งแต่วันที่ "กาตาร์" ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลกปี 2022 เมื่อ 12 ปีก่อน กาตาร์เดินหน้าอย่างเต็มที่ในการเตรียมความพร้อม สร้างสนามกีฬาใหม่ 7 แห่ง รวมถึงสนามบิน ระบบรถไฟใต้ดิน ตัดถนนเพิ่มหลายเส้นทาง และสร้างโรงแรมใหม่ประมาณ 100 แห่ง เรียกว่าเนรมิตเมืองใหม่ขึ้นมาสำหรับฟุตบอลโลกโดยเฉพาะ ซึ่งแรงงานต่างชาติถือเป็นหัวใจหลักของโครงการก่อสร้างเหล่านี้

รัฐบาลกาตาร์ ระบุว่า เฉพาะการก่อสร้างสนามกีฬา ต้องใช้แรงงานต่างชาติประมาณ 30,000 คน ส่วนใหญ่มาจากบังกลาเทศ อินเดีย เนปาลและฟิลิปปินส์ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กาตาร์ถูกวิจารณ์มาโดยตลอดเรื่องการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม เช่น การบังคับให้ทำงานท่ามกลางสภาพอากาศร้อนจัด โดยไม่ยอมให้หยุดพัก การหักเงินเดือนอย่างไม่เป็นธรรม รวมถึงการจ่ายเงินล่าช้ากว่ากำหนด

หนังสือพิมพ์ The Guardian เคยรายงานว่า นับตั้งแต่วันที่กาตาร์รู้ว่าจะได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก มีแรงงานต่างชาติเสียชีวิตประมาณ 6,500 คน

ด้านรัฐบาลกาตาร์ แย้งว่า การใช้ข้อมูลชุดนี้ถือเป็นการชักจูงไปในทางที่ผิด เพราะผู้เสียชีวิตเหล่านี้ไม่ได้ทำงานในโครงการที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอลโลกทั้งหมด และยังให้ข้อมูลในฝั่งของภาครัฐ ว่า ระหว่างปี 2014-2020 มีแรงงานที่เสียชีวิตโดยมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างสนามกีฬา 37 คนเท่านั้น

รัฐบาลกาตาร์ ระบุอีกว่า สาเหตุการเสียชีวิตของแรงงานต่างชาติในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา บางส่วนเสียชีวิตด้วยโรคชรา โรคร้าย หรืออุบัติเหตุอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการก่อสร้างสนามกีฬา

แต่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO ) มองว่า ตัวเลขแรงงานที่เสียชีวิตของทางการกาตาร์ต่ำกว่าความเป็นจริง โดยรัฐบาลกาตาร์ไม่ได้นับรวมการเสียชีวิตที่มีสาเหตุมาจากหัวใจวาย หรือระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการถูกบังคับให้ทำงานหนักท่ามกลางสภาพอากาศร้อนจัด

ILO อ้างข้อมูลจากโรงพยาบาลของรัฐและศูนย์ให้บริการรถพยาบาลของกาตาร์ พบว่า ปี 2021 เพียงปีเดียวมีแรงงานต่างชาติเสียชีวิต 50 คน บาดเจ็บสาหัสมากกว่า 500 คน และอีกประมาณ 37,600 คนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยถึงปานกลาง

นอกจากนี้ กาตาร์ยังมีกฎระเบียบเรื่องการทำงานที่เข้มงวดและลิดรอนสิทธิของแรงงาน เช่น แรงงานต่างชาติไม่สามารถย้ายไปทำงานกับนายจ้างใหม่ได้ หากนายจ้างเดิมไม่ยินยอม รวมถึงการถูกหักเงินอย่างไม่เป็นธรรมและถูกยึดหนังสือเดินทาง

เสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ทำให้รัฐบาลกาตาร์แก้ไขกฎหมายแรงงาน เพื่อทำให้การคุ้มครองแรงงานต่างชาติมีประสิทธิภาพมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือการกำหนดเงินเดือนขั้นต่ำ ซึ่งบังคับใช้กับแรงงานทุกประเภทโดยไม่เลือกสัญชาติ

กาตาร์ เป็นประเทศแรกในภูมิภาคตะวันออกกลางที่กำหนดเงินเดือนขั้นต่ำอยู่ที่ 10,000 บาท และหากนายจ้างไม่ได้จัดที่พักหรือดูแลเรื่องอาหารให้แรงงาน จะต้องจ่ายเพิ่มอีกประมาณ 3,000-5,000 บาทต่อเดือน

เสนอ FIFA ตั้งกองทุนช่วยแรงงานในกาตาร์

ขณะที่ แอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนล องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ร่วมมือกับ YouGov จากอังกฤษ สำรวจความเห็นของประชาชนมากกว่า 17,000 คนใน 15 ประเทศทั่วโลก พบว่า ร้อยละ 73 ต้องการให้สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) จ่ายเงินชดเชยให้กับแรงงาน ในขณะที่ร้อยละ 67 ต้องการให้สมาคมฟุตบอลของแต่ละประเทศ ออกแถลงการณ์เพื่อแสดงความกังวลต่อปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในกาตาร์

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายแห่ง รวมกันเสนอให้ฟีฟ่าตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือหรือชดเชยให้กับแรงงานที่ได้รับผลกระทบในกาตาร์ โดยเสนอเงินทุนขั้นต่ำ 440 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 16,000 ล้านบาท ซึ่งไม่ถึงร้อยละ 10 ของรายได้ที่ฟีฟ่าจะได้จากการแข่งขันฟุตบอลโลก ประเมินว่าอยู่ที่ 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 220,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ กาตาร์ยังมีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยฮิวแมน ไรท์ วอทช์ รายงานว่าระหว่างปี 2019-2022 มีชาวกาตาร์ที่มีความหลากหลายทางเพศ 6 คน ถูกควบคุมตัวในคุกใต้ดินและถูกทารุณกรรมทั้งทางวาจาและร่างกาย

ล่าสุด คาลิด ซัลมาน ทูตฟุตบอลโลกและอดีตนักฟุตบอลชาวกาตาร์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อของเยอรมนี ว่า การรักคนเพศเดียวกันถือเป็นสิ่งต้องห้ามตามหลักของกฎหมายอิสลาม และเป็นอันตรายต่อจิตวิญญาณ สิ่งสำคัญที่สุดคือทุกคนที่มากาตาร์จะต้องยอมรับกฎของเรา โดยสิ่งที่เขากังวลคือ เด็กๆ อาจจะเรียนรู้บางอย่างที่ไม่ดี ขณะที่เจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกได้สั่งยุติการให้สัมภาษณ์ทันที

ประเด็นเหล่านี้ทำให้สมาคมและองค์กรด้านฟุตบอลของหลายประเทศ ประกาศว่า จะทำการประท้วงกาตาร์ในเชิงสัญลักษณ์ หนึ่งในนั้นคือ Professional Footballers Australia ที่ให้นักเตะของออสเตรเลียส่งข้อความถึงฟีฟ่าและรัฐบาลกาตาร์

คลิปดังกล่าวถูกทวีตในทวิตเตอร์ เมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา เนื้อหาหลักๆ ระบุว่า การที่กาตาร์ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ทำให้เกิดความเสียหายและความทุกข์ทรมานต่อแรงงานนับไม่ถ้วน ในฐานะของนักกีฬา พวกเขาสนับสนุนสิทธิของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างเต็มที่ รวมถึงเรียกร้องให้เคารพสิทธิของแรงงานต่างชาติ

ดัชนีเสรีภาพมนุษย์ "กาตาร์" อยู่เกือบท้ายตาราง

ผลการสำรวจดัชนีเสรีภาพมนุษย์ปี 2021 พบว่า อันดับของกาตาร์อยู่เกือบท้ายตาราง โดยประเทศที่มีดัชนีเสรีภาพสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ เดนมาร์ก เอสโตเนียและไอร์แลนด์

ขณะที่ฝั่งอาเซียนถือว่าอยู่ในลำดับกลางๆ โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 96 ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ กัมพูชา และกาตาร์อยู่ในลำดับที่ 128 จากทั้งหมด 165 ลำดับ ซึ่งถือว่าดีกว่าลาวและเมียนมา ในขณะที่ซีเรียเป็นประเทศรั้งท้าย

ทั้งหมดนี้ไม่เพียงแต่เป็นรอยด่างของกาตาร์เท่านั้น แต่ยังถือเป็นความน่าอับอายของฟีฟ่า ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าฟีฟ่าควรแก้ปัญหาได้เร็วและดีกว่านี้ เพราะปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมานานหลายปี ซึ่งหลายฝ่ายถึงขั้นเสนอให้ฟีฟ่าออกกฎใหม่ว่า หากมีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ควรจะเปิดทางให้มีการเปลี่ยนประเทศเจ้าภาพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อดีตบิ๊กฟีฟ่ารับจัดบอลโลก "กาตาร์" คือความผิดพลาด

กาตาร์เดินหน้าจัด "บอลโลก" เมินคำประท้วงด้านสิทธิมนุษยชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง