แม้ว่าทางการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ยังหาเงินงบประมาณซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 ได้ไม่ครบ เเต่วันนี้ (14 พ.ย.) กกท. จะลงนาม MOU กับ กสทช.เพื่อยืนยันว่า กสทช.พร้อมสนับสนุนเงิน 600 ล้านบาท จากกองทุนวิจัยและพัฒนาสื่อ หรือ กทปส.แต่ กสทช.จะมอบเงิน 600 ล้านบาทให้ ก็ต่อเมื่อ กกท.นำสัญญาที่ทำไว้กับ ฟีฟ่า มาแสดงต่อ กสทช.ซึ่งอาจจะเป็นหลังวันที่ 14 ก็ได้
นายก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท.ระบุว่า การเจรจากับตัวแทนสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ยังคงดำเนินต่อไปตามขั้นตอน
หลังจากที่ได้ส่งหนังสือแจ้งไปแล้วว่า มีงบประมาณจำกัดและได้ขอให้พิจารณาทบทวนลดราคาลงอีกครั้ง
จนถึงขณะนี้ก็ยังคงรอการตอบกลับของฟีฟ่าถึงการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก ว่าจะไปในทิศทางใด คาดว่าจะได้รับคำตอบในวันนี้
นายก้องศักด ยังปฏิเสธกรณีที่ สื่อสังคมออนไลน์ลือว่า มีภาคเอกชน 5 ราย เข้ามาสนับสนุนรายละ 200 ล้านบาท ทำให้ได้ครบ 1,000 ล้านบาทแล้ว ไม่เป็นความจริง
ทั้งนี้ มีรายงานว่า งบประมาณจากภาคเอกชนที่เปิดเจรจาขอรับการสนับสนุนไป มีตอบรับแบบปากเปล่ามาแล้ว 3 บริษัทเอกชน คือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน), บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่จะให้เงินงบประมาณ 400 – 500 ล้านบาท
เมื่อรวมกับงบประมาณที่ได้รับจาก กสทช.จะมีเงินอยู่ในมือในการเจรจากับทางฟีฟ่าประมาณ 1,000-1,100 ล้านบาท ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า กกท.ยังรอคำตอบอีก 2 บริษัท คือ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จํากัด (มหาชน) และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.)
ล่าสุดมีรายงานข่าวว่า ท่าทีของฟีฟ่าคือ ไม่ยอมลดราคาให้เหลือ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามที่ฝ่ายไทยร้องขอโดยบอกว่า ถ้าไทยจะซื้อในราคาที่ถูกกว่า 38 ล้านดอลลาร์สหรัฐต้องซื้อเมื่อ 2 ปีที่แล้ว
นอกจากนี้ ฟีฟ่า ยังยืนยันว่า ไม่ยอมขายแพ็คเกจย่อย คือ ซื้อตั้งแต่รอบ 2 หรือรอบ 16 ทีมสุดท้าย แต่บังคับให้ซื้อฟูลแพ็คเกจ 64 นัดเท่านั้น
ส่วนขั้นตอนการซื้อ ฟีฟ่าได้ขีดเส้นตายไว้คือ ภายในวันที่ 18 พ.ย.นี้ ต้องปิดดีลกับฟีฟ่าให้สำเร็จ จากนั้นในวันที่ 19 พ.ย.65 จะต้องโอนเงินทั้งหมดไปให้ฟีฟ่า พร้อมภาษี 15 %
ทางเลือก 2 ทาง คือ 1.ยอมจ่ายลิขสิทธิ์เต็มจำนวน 1,600 ล้านบาท กรณีที่เอเยนต์ฟีฟ่าไม่ยอมลดราคา และ 2.ประเทศไทยไม่ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022