วันนี้ (14 พ.ย.2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหาผู้ลงทุนรายใหญ่คนหนึ่งสร้างนอนิมีขึ้นมาเพื่อกระจายตามบริษัทหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ จำนวนไม่น้อยกว่า 14-20 แห่ง พร้อมกับใช้หุ้นมอร์จำนวนหนึ่งมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อให้ได้วงเงินสินเชื่อ จากหุ้นหลักทรัพย์ หรือมาร์จิ้น
ก่อนเริ่มแผนให้นอมินีในโบรกเกอร์ฝั่งซื้อ ปั่นราคาหุ้น โดยซื้อหุ้น ณ ราคาเปิดตลาดโดยอัตโนมัติ หรือเอโอที ที่ 2.90 บาท เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2565 และนอมินี บริษัทโบรกฯ ฝั่งขาย เทขายครั้งเดียวพร้อมกัน จนราคาถึงกรอบราคาต่ำสุดนับจากเปิดซื้อขาย ที่ 1.95 บาท ทำให้ขบวนการนี้ได้หุ้นไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านหุ้น จากหลักทรัพย์หุ้นที่มีอยู่ คิดเป็นความเสียหายส่วนต่างราคาจากการปั่นหุ้นครั้งนี้ ไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในการใช้มาร์จิ้นซื้อหุ้น ต้องชำระแบบ T+2 หรือหุ้นที่ต้องชำระค่าหุ้น 2 วัน นับจากซื้อขาย หรือครบกำหนดชำระหุ้น วันนี้ (14 พ.ย.) ภายใน 12.00 น. สำหรับฝั่งซื้อและฝั่งขายภายในเวลา 15.00 น. หากผู้ซื้อขายไม่ชำระค่าหุ้นจริง บริษัทโบรกเกอร์ต้องรับภาระชำระค่าหุ้นดังกล่าวไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาท
บริษัทโบรกเกอร์ 11 แห่ง ได้พบความผิดปกติธุรกรรมสงสัยว่า การซื้อขายหุ้นดังกล่าวเป็นกลุ่มเดียวกัน จึงยื่นเรื่องให้สำนักงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยื่นศาลระงับคำสั่งชำระค่าหุ้นเป็นการชั่วคราว
ล่าสุดนายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ และนายพิเชษฐ สิทธิอำนวย นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย เตรียมแถลงข่าวความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คาดว่าเบื้องต้นจะขึ้นเครื่องหมาย SP หรือห้ามซื้อขายชั่วคราว
ก่อนหน้านี้ แวดวงนักลงทุนรายย่อยวิพากษ์วิจารณ์ว่าราคาหุ้นดังกล่าวเคลื่อนไหวผิดปกตินับตั้งแต่ก่อนวันลงมือปฏิบัติการ โดยราคาหุ้นปรับตัวทางเทคนิค แต่ราคาที่เพิ่มขึ้นสูงเกินพื้นฐานและความสามารถทำกำไร ประกอบกับบริษัทนี้ เปลี่ยนชื่อมาจากบริษัทดีเอ็นเอ 2002 เพื่อแก้ปัญหาภาพลักษณ์หุ้นทำราคา
นายประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ ตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจกระทบความสภาพคล่องโบรกเกอร์ และความเชื่อมั่นผู้ลงทุนถอนเงินจากโบรกเกอร์ ทำให้ ตลท.ปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้มาร์จิ้น และกระทบผู้ลงทุนกลุ่มเก็งกำไรระยะสั้นในหุ้นขนาดเล็ก เพื่อลดความเสียหายที่อาจเพิ่มขึ้น