วันนี้ (20 พ.ย.2565 ) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แม้หน่วยงานภาครัฐและธนาคารพาณิชย์ จะได้ออกเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อการหลอกลงทุนและการปล่อยกู้ผ่านออนไลน์ แต่ยังคงมีประชาชนจำนวนมากตกเป็นเหยื่อ
นอกจากนี้ ที่พบมากขึ้นคือการที่แก๊งมิจฉาชีพ ส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ทวงถามหนี้เงินกู้ พร้อมชักชวนให้ทำการกู้เงินในวงเงินเพิ่มเติม จึงขอแนะนำให้ประชาชนหากถูกแก๊งทวงหนี้ แอบอ้าง ข่มขู่ ตั้งสติให้ดีทำการบันทึกข้อมูลการสนทนา ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไว้ด้วยเพื่อใช้ในการดำเนินคดีภายหลัง หากพบเห็นเบาะแสการกระทำผิด สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ขณะเดียวกัน ทางธนาคารแห่งประเทศไทย โดยศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ได้รวบรวมข้ออ้างที่คนทวงหนี้ใช้บ่อย ซึ่งมักอ้างกฎหมายมาขู่ให้ลูกหนี้กลัว ดังนั้น สิ่งที่ลูกหนี้ต้องรู้เพื่อไม่ให้เสียเปรียบ ดังนี้
- การขู่ว่าเป็นหนี้ไม่จ่ายจะติดคุก ซึ่งความจริงคือ การไม่จ่ายหนี้ไม่ใช่ความผิดตามกฎหมายอาญา แต่เจ้าหนี้สามารถฟ้องร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้
- จะมีการยึดทรัพย์ทันทีถ้าไม่จ่าย ซึ่งความจริงคือ เจ้าหนี้ต้องฟ้องร้องต่อศาลจนคดีถึงที่สุดก่อน
- การโทรทวง เช้า กลางวัน เย็น ไม่สามารถทำได้ กฎหมายให้ทวงหนี้ได้วันละ 1 ครั้งเท่านั้น
ทวงหนี้รุนแรงจำคุก 1 ปีปรับ 100,000 บาท
ทั้งนี้ ถ้าประชาชนถูกทวงถามหนี้ที่ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ลูกหนี้สามารถร้องเรียน หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน โทร.1213
โดยกฎหมายกำหนดไว้ว่าการติดตามทวงหนี้ ซึ่งมีลักษณะการพูดจาข่มขู่ ดูหมิ่น การเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ การใช้ความรุนแรงทำให้ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย อาจจะถูกดำเนินคดีในข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
ส่วนผู้ที่ประกอบธุรกิจสินเชื่อโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 100,000-500,000 บาท และ การเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎ หมายกำหนด มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท และหากมีการตรวจสอบพบทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด ก็อาจมีความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง