การเมืองมาเลเซียกำลังเผชิญกับภาวะวิ่งเต้นกันฝุ่นตลบอีกครั้ง หลังจากไม่มีพรรคการเมืองใดคว้าชัยชนะได้อย่างเบ็ดเสร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ในขณะที่สำนักพระราชวังขยายเวลาให้พรรคการเมืองทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรายชื่อ "ว่าที่นายกรัฐมนตรี" แด่สมเด็จพระราชาธิบดีเพื่อมีพระบรมราชวินิจฉัยจนถึงวันพรุ่งนี้ การเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ
การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการแข่งขันของกลุ่มการเมือง 3 ขั้ว คือ
ปากาตาน ฮาราปาน หรือ PH ที่นำโดย อันวาร์ อิบราฮิม
เปอริกาตาน นาซันนาล หรือ PN ที่นำโดย มูห์ยิดดิน ยาสซิน อดีตนายกรัฐมนตรี
และบารีซาน นาซันนาล หรือ BN ที่นำโดย อาห์หมัด ซาฮิด ฮามิดี ประธานพรรคอัมโน
กลุ่มการเมืองต้องได้ที่นั่งขั้นต่ำ 112 ที่นั่งจากทั้งหมด 222 ที่นั่ง จึงจะเป็นฝ่ายครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร
แนวร่วม ปากาตาน ฮาราปาน ได้เก้าอี้มากที่สุดถึง 82 ที่นั่ง
ในขณะที่แนวร่วม เปอริกาตาน นาซันนาล ได้ 73 ที่นั่ง
ส่วนบารีซาน นาซันนาล หรือ กลุ่มบีเอ็น ที่นำโดยพรรคการเมืองเก่าแก่อย่างพรรคอัมโนได้เพียง 30 ที่นั่งเท่านั้น
ผลการนับคะแนนชี้ว่าไม่มีกลุ่มการเมืองใดครองเสียงข้างมาก ทำให้แต่ละกลุ่มต้องหาเสียงสนับสนุนเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม
ภาวะที่ไม่มีกลุ่มการเมืองคว้าชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จทำให้กลุ่มการเมือง 2 กลุ่มแรกต้องชิงที่นั่งมาอยู่ในมือให้ได้มากที่สุด
ด้านอันวาร์และมูห์ยิดดินต่างอ้างว่ามีเสียงสนับสนุนมากเพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศอย่างมีเสถียรภาพ
ตัวแปรสำคัญของการจัดตั้งรัฐบาลผสม คือ กลุ่ม BN ที่แม้ว่าจะทำผลงานได้ย่ำแย่ที่สุดในการเลือกตั้งในครั้งนี้ก็ตาม
แต่หากพรรคอัมโนหนุนแนวร่วม PH ให้ตั้งรัฐบาลผสมจะเป็นการกลับลำจุดยืนทางการเมืองครั้งสำคัญ เนื่องจากอันวาร์โจมตีการดำเนินนโยบายของพรรคอัมโนมาโดยตลอดนับตั้งแต่ถูกขับออกจากพรรคอัมโนเมื่อปี 1998
ด้านสำนักพระราชวังประกาศขยายเวลาให้พรรคการเมืองต่างๆ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรายชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ แด่สมเด็จพระราชาธิบดี เพื่อมีพระบรมราชวินิจฉัย จากกำหนดเดิมคือภายในวันนี้ไปเป็นภายในเวลา 14 นาฬิกา ของวันพรุ่งนี้แทน (22 พ.ย.2565)
ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ประเมินการเมืองมาเลเซีย หลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 15 ว่า นับตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2018 มาเลเซียมีนายกรัฐมนตรี 3 คนและเผชิญภาวะไร้เสถียรภาพจากการแย่งชิงอำนาจ
ภาวะที่ไม่มีกลุ่มการเมืองครองเสียงข้างมากมีแนวโน้มซ้ำเติมความไร้เสถียรภาพทางการเมืองให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น
พงศธัช สุขพงษ์ วิเคราะห์