วันนี้ (29 พ.ย.2565) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการให้ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันวิ่งเทรลระดับนานาชาติ รายการ Thailand by UTMB 2 รายการ ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ
พร้อมเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณเพื่อสมทบค่าลิขสิทธิ์การจัดการแข่งขันทั้ง 2 รายการในอัตราร้อยละ 50 ของค่าลิขสิทธิ์รวม 65.55 ล้านบาท และเห็นชอบกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดการแข่งขันรวม 409.56 ล้านบาท
สำหรับการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพทั้ง 2 รายการรายการแรก Doi Inthanon Thailand by UTMB ประจำปี 2566-68 โดยจัดการแข่งขันที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ซึ่งตลอด 3 ปี จะใช้งบรวม 199.30 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 66.43 ล้านบาท
ประกอบด้วยค่าลิขสิทธิ์ที่ภาครัฐและเอกชนออกฝ่ายละ 25.65 ล้านบาท รวม 51.30 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการแข่งขันซึ่งให้จัดสรรจากงบประมาณประจำปีของการกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.) หากไม่เพียงพอก็ให้จัดสรรจากกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ 148 ล้านบาท
ช่วงปี 2563-2564 กกท.จัดการแข่งขันวิ่งเทรลฯ รายการ Thailand by UTMB ที่ดอยอินทนนท์มาแล้ว 3 ครั้ง มีนักกีฬาและผู้ติดตามเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกครั้ง และในวันที่ 8-11 ธ.ค.นี้จัดเป็นครั้งที่ 4 โดยรายการในครั้งนี้เป็นการแข่งขันระดับ Major ของทวีปเอเชีย-โอเชียเนีย และได้รับการประกาศเป็นสนาม UTMB® World Series ระดับ Major
อ่านข่าวเพิ่ม มีคำตอบ! วิ่งเทรลเกิดภาวะไตวาย เหตุขาดน้ำจากการเสียเหงื่อ
ปี 2566 เตรียมวิ่งเทรลเบตง ยะลา
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ส่วนรายการที่2 Amazean Jungle Thailand by UTMB ประจำปี 2566-2571 จัดการแข่งขันที่อ.เบตง จ.ยะลา ตลอด 6 ปี จะใช้งบรวม 341.36 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 56.89 ล้านบาท
ประกอบด้วยค่าลิขสิทธิ์ภาครัฐและเอกชนออกฝ่ายละ 39.90 ล้านบาท รวม 79.80 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการแข่งขันจากงบของ กกท.หากไม่เพียงพอก็ให้จัดสรรจากกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ 261.56 ล้านบาท
โดยที่ผ่านมา กกท. ได้ร่วมกับ ศอ.บต.จัดการแข่งขันสนามอำเภอเบตง ใน Zero Edition หรือการทดสอบสนามมาแล้ว 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 6-8 พ.ค.ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมแข่งขันจาก 13 ประเทศรวม 823 คน สามารถสร้างเงินหมุนเวียนภายในงานและการท่องเที่ยวต่อเนื่องรวม 127.59 ล้านบาท
รายการนี้ก็ได้รับการบรรจุเป็นหนึ่งใน 25 สนามของ UTMB World Series ระดับ Event และมีกำหนดจัด First Edition ระหว่างวันที่ 17-19 ก.พ.2566
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันวิ่งเทรลระดับโลกทั้ง 2 รายการ จะนำรายได้เข้าประเทศจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการจัดงาน การสร้างภาพลักษณ์ให้นานาชาติเห็นว่าไทยมีศักยภาพในการจัดการแข่งขันระดับโลกผ่านการถ่ายทอดสดไปทั่วโลกโดยสถานีโทรทัศน์ช่องกีฬาที่มีมาตรฐานสากล
จากการจัดงานของไทยใน 3 ปีที่ผ่านมามีนักกีฬาเข้าร่วมกว่า 5,500 คน และการจัดงานยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่ ช่วยการกระจายรายได้สู่ชุมชน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง