ปัจจุบัน โรงเรียนทั่วประเทศมีหลักสูตรการเรียนที่เหมือนกัน คือ วิชาเดียวกัน และใช้หลักเกณฑ์เดียวกันทั้งหมดในการวัดผล ซึ่งอาจทำให้เด็กในแต่ละพื้นที่ซึ่งมีบริบทในชุมชนที่ต่างกัน ไม่สามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนได้เต็มที่นัก
ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2565 มีมติ ครม. เห็นชอบจัดตั้ง "พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา" ในกทม. และ อีก 10 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย แม่ฮ่องสอน กระบี่ ตราด สระแก้ว จันทบุรี ภูเก็ต สงขลา สุราษฎร์ธานี และอุบลราชธานี
โดยมีสถานศึกษานำร่องรวมทั้งสิ้น 538 โรงเรียน
พื้นที่นวัตกรรมการศึกษานี้ เป็นพื้นที่การปฏิรูปการบริหารและการจัดการศึกษาโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนจะสามารถจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้น
ยกตัวอย่าง เช่น จ.ภูเก็ต จะสร้างระบบการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับสภาพปัญหา เน้นให้เด็กภูเก็ตทุกคนต้องพูดได้มากกว่า 2 ภาษา เพราะเป็นเมืองท่องเที่ยว มีชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก
หรือ สระแก้ว ที่เป็นพื้นที่ชายแดนก็จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตรของสถานศึกษา พัฒนาคุณภาพผู้เรียนทั้งด้านวิชาการ ทักษะชีวิตและทักษะอาชีพไปพร้อมกัน และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในพื้นที่
ส่วนแม่ฮ่องสอน จะมีการรวมกลุ่มเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา แก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูและผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสและผู้เรียนที่มาจากหลากหลายชาติพันธุ์
สำหรับ เกณฑ์การคัดเลือกจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พิจารณาจากความเหมาะสมและความพร้อมของจังหวัด การมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องและโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ ซึ่งโครงการนี้ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 กำหนดไว้ใน 6 พื้นที่ ของ 8 จังหวัด และเริ่มเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม เช่นที่ จ.นราธิวาส มีการพัฒนาหลักสูตรอิสลามศึกษาเพื่อจัดการศึกษาบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นต้น