บริษัทเดียว ปีเดียว (2564) ได้งานรับเหมาถนน 14 โครงการ
เพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งหมดของโครงการจัดซื้อ-จัดจ้าง ของเทศบาลตำบลนากลาง ในระยะ 8 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2565 และตอบคำถามข้อสงสัยว่า มีอะไรบ้างที่เป็นช่องทางที่เอื้อให้เกิดการทุจริตได้บ้าง
เมื่อตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียด ถึงโครงการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด ของเทศบาลตำบลนากลาง ย้อนหลังไป 8 ปี ตั้งแต่ ปี 2558-2565 เทศบาลตำบลนากลาง ใช้งบประมาณ จัดซื้อจัดจ้างไป 1,726 โครงการ และใช้งบประมาณ ไปรวม 250,699,368 ล้านบาท (250 ล้านบาท)
สิ่งที่น่าสนใจคือ
1.มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการทำถนน ถึง 177 โครงการ และใช้งบประมาณ มากถึง 123,105,924 ล้านบาท (123 ล้านบาท) มากกว่า 50 % ของงบประมาณจัดซื้อ-จัดจ้างทั้งหมด
2.โครงการที่เกี่ยวข้องกับการทำถนน ที่ทำกันมากเป็นพิเศษ และใช้งบประมาณมากที่สุด 4 อันดับแรก คือ
- ถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก 35 โครงการ 28,565,029 (28 ล้านบาท)
- ถนนแอสฟัลท์ติกคอนกรีต 25 โครงการ 30,909,000 (30 ล้านบาท)
- ขยายผิวจราจรคอนกรีตเสริมเหล็ก พร้อมระบบระบายน้ำ 24 โครงการ 20,267,899 (20 ล้านบาท)
- ถนนคอนกรีตเสริมเหล็กเสริมผิวแอสฟัลท์ติกคอนกรีต 23 โครงการ 9,955,200 (9 ล้านบาท)
3.เมื่อดูรายละเอียดไปถึงบริษัทที่ได้รับงาน โครงการเกี่ยวกับถนน ของเทศบาลตำบลนากลาง เมื่อดูบริษัทที่ได้งานมากที่สุด 4 อันดับแรก พบข้อมูลที่น่าสนใจ คือ
กิจการที่ได้งานมากที่สุดคือ
ห้างหุ้นส่วนจำกัด นากลางพัฒนา (1992) มี 29 โครงการ งบประมาณรวม 29,076,500 (29 ล้านบาท)
หมายเหตุ และที่น่าสังเกต หจก.นากลางพัฒนา(1992) ในปี 2564 ได้งาน ไป มากถึง 14 โครงการ งบประมาณ 13,458,340.(13 ล้านบาท) และต่อมาในปี 2565 ได้โครงการ แล้ว 3 โครงการ แต่ได้งบประมาณไป 11 ล้านบาท
อันดับ 2 ห้างหุ้นส่วนจำกัด ที.วาย.ซี 2000 มี 14 โครงการ งบประมาณ 15,399,500 (15 ล้านบาท)
อันดับ 3 บริษัท เอส มหานคร คอนกรีต จำกัด มี 13 โครงการ งบประมาณ 7,425,100 (7 ล้านบาท)
ห้างหุ้นส่วนจำกัด วีรวุฒิ คอนกรีต มี 13 โครงการ งบประมาณ 7,554,300 ( 7 ล้านบาท)
ในกิจการเหล่านี้ เป็นโครงการที่วิศวกรโยธา รับผิดชอบเป็นผู้ควบคุมโครงการ และทั้ง 4 โครงการ นายภาณุเมศวร์ ยังไม่เซ็นให้ผ่านทั้งหมด เพราะงานก่อสร้างไม่ได้สเป็กที่ถูกต้อง 4 โครงการ มีดังนี้
1.โครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ซอยเพชรสุวรรณ 6 หมู่ที่ 9 ต.นากลาง งบประมาณ 413,000 บาท (ส่งมอบงานแล้ว)
2.โครงการซ่อมแซมถนน คอนกรีตเสริมเหล็ก ถนนเส้น นครชัย-นันทจันทร์ งบประมาณ 357,000 บาท (ส่งมอบงานแล้ว)
3.โครงการซ่อมแซมถนน คอนกรีตเสริมเหล็ก สายหนองบัวคำแสน-กุดแห่ งบประมาณ 92,000 บาท (ส่งมอบงานแล้ว)
4.โครงการถมดินคันคู รอบศูนย์การจัดการขยะมูลฝอยรวมเทศบาลตำบล
นากลาง งบประมาณ 1,323,000 บาท (อยู่ระหว่างดำเนินการ)
เมื่อเข้าไปค้นข้อมูลทั้ง 4 บริษัท เพื่อดูว่า ได้งานในระดับประเทศหรือไม่ นอกเหนือไปจากเทศบาลตำบลนากลาง ยิ่งทำให้เห็นข้อมูลที่ไม่ธรรมดา เพราะทั้ง 4 บริษัทมีงานก่อสร้างถนนที่อื่น ๆ ด้วย
เช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด นากลางพัฒนา (1992) จำนวน 364 โครงการ งบประมาณ 1,682,177,059 (1,600 ล้านบาท)
บริษัท เอส มหานคร คอนกรีต จำกัด จำนวน 1,109 โครงการ งบประมาณ 1,156,065,784 (1,000 ล้านบาท)
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ที.วาย.ซี 2000 จำนวน 177 โครงการ งบประมาณ 801,316,109 (800 ล้านบาท)
ห้างหุ้นส่วนจำกัด วีรวุฒิ คอนกรีต จำนวน 238 โครงการ งบประมาณ 98,153,408. (98 ล้านบาท)
มีข้อสังเกต จากคนในวงการผู้รับเหมาว่า
การก่อสร้างถนนของ อบต.ทั่วประเทศ กลุ่มโครงการก่อสร้าง ซ่อมแซมถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก “เสริมผิวทางด้วยแอลฟัลท์ติกคอนกรีต” นั้น มีจำนวนโครงการฯ เป็นจำนวนมาก มีวิธีกลบเกลื่อนการทุจริตจากการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กไม่ได้มาตรฐาน แล้วจึงจัดทำโครงการ
ก่อสร้าง-ซ่อมแซม-ปรับปรุง เสริมผิวทางด้วยแอลฟัลท์ติกคอนกรีต เพื่อป้องกันข้อร้องเรียน หรือปิดบังอำพรางการทุจริตมิให้ตรวจสอบได้
นอกจากนั้น วิธีการสมยอมราคา การทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ การแข่งขันภายในพื้นที่ มีลักษณะของการเป็นเครือข่าย
ที่มาของข้อมูล:
สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เขต 4 ขอนแก่น
กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ - บก.ปปป.