มาแรงแซงทุกโค้ง กับลูกสาวสายดาร์กของบ้านแอดดัมส์ Wednesday’ ผู้กลับมากับซีรีส์ สปิน ออฟ แนวแฟนตาซีระทึกขวัญเรื่องใหม่ของ Netflix ที่เป็นกระแสมาแรงในช่วงนี้ ทั้งการนำเสนอเรื่องราวน่าสนใจโดยฝีมือของผู้กำกับ Tim Burton ผู้กำกับที่ขึ้นชื่อเรื่องเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการนำเสนอความตลกร้าย ภายใต้บรรยากาศอันแปลกประหลาดหรือโทนที่ดำมืด รวมถึงฝีมือการแสดง Jenna Ortega ขวัญใจหนังสยองขวัญคนใหม่ที่สะกดหัวใจคนทั่วโลกได้อยู่หมัด
ภาพ : Netflix
Wednesday ในเวอร์ชั่น Netflix เป็นการบอกเล่าเรื่องราวเน้นหนักไปที่ Wednesday ที่โตเป็นวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ และแน่นอนว่าครอบครัวสุดพิลึกอย่าง Addams ก็มีวิธีรับมือกับการก้าวพ้นวัยของเด็กแปลกได้อย่างน่าสนใจ ด้วยการส่งเธอมาเรียนที่โรงเรียนประจำ เนเวอร์มอร์ อะคาเดมี สำหรับคนนอกคอก แหล่งรวมเด็กประหลาด จนทำให้เธอต้องพบกับเรื่องราวมากมาย
ภาพ : Netflix
การลอบทำร้ายจากบุคคลลึกลับ ปริศนาสมาคมลับโบราณที่แฝงตัวในโรงเรียน ปีศาจร้ายในป่าที่ออกสังหารผู้คน ความโกรธและความชิงชังแต่ดั้งเดิมระหว่างชาวเมืองที่เป็นคนธรรมดากับคนนอกคอกที่มีพลังพิเศษในโรงเรียน จนกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ทำให้ Wednesday ต้องทำหน้าที่ ฮีโร่ผสมนักสืบไปโดยไม่รู้ตัว แต่ระหว่างการสืบหรือตามหาฆาตกร เธอมักจะเห็นนิมิตเรื่องราวในอดีตและอนาคต ผสมปนกันจนเป็นปริศนา ซึ่งนิมิตอาจกลายเป็นพลังวิเศษสำหรับเธอ
ภาพ : Netflix
ไทยพีบีเอสออนไลน์จึงชวนสำรวจความฝันหรือนิมิต ที่เกิดขึ้นกับ Wednesday ในอีกรูปแบบนึง คือ ฝันลูซิด (Lucid Dream) ในทางจิตแพทย์ ที่ภาพยนตร์ทั่วโลกต่างนำทฤษฎีนี้มาใช้รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจต่องานสร้างสรรค์และศิลปะหลายแขนง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพยนตร์ เช่น Inception (2010) ที่นำเอาทฤษฎีความฝันแบบลูซิดดรีมมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ด้วยการสร้างสรรค์จินตภาพอันน่าตื่นตะลึงและความซับซ้อนลุ่มลึกของความฝันและจิตใต้สำนึกของมนุษย์ได้อย่างลุ่มลึก
ภาพ : Netflix
ฝันลูซิด Lucid Dream คืออะไร?
นิมิตหรือความฝัน เดิมที ตั้งแต่โบราณกาลมา ความฝันของคนเรา มักถูกมองในแง่เรื่องเหนือธรรมชาติ บ้างก็มองว่าเป็นนิมิต เป็นการดลบันดาลใจจากเทพยดาหรือภูตผี ปีศาจ จนกระทั่งการมาถึงของวิทยาศาสตร์ ที่วิเคราะห์ทุกสิ่งทุกอย่างบนพื้นฐานของหลักการและเหตุผล ความฝันจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาวิเคราะห์เช่นกัน โดยเฉพาะในทางจิตแพทย์
การวิเคราะห์ศึกษาเกี่ยวกับนิมิตหรือความฝันและความเป็นจริงตามหลักจิตแพทย์เรียกว่า ฝันลูซิด (Lucid Dream) มักเป็นความฝันที่เรารู้ตัวว่าฝัน ตอนฝัน คุณรับรู้ได้ทั้งความรู้สึก ความคิด และอารมณ์ระหว่างที่ฝัน แถมบางครั้งยังสามารถควบคุมฝันของตัวเองได้ด้วย ควบคุมในรูปแบบเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนเรื่อง หรือเปลี่ยนคนที่กำลังเดินอยู่รอบๆ ได้ด้วย
ฝันลูซิด (Lucid Dream) ถูกบัญญัติขึ้นครั้งแรกโดยจิตแพทย์ชาวดัตช์ Frederik van Eeden ซึ่ง Lucid มีความหมายว่า สว่างชัดเจน ซึ่งเขาเป็นคนที่ศึกษาความฝันในลักษณะนี้เป็นคนแรก หลังจากนั้นก็เริ่มมีนักจิตวิทยา และศาสตร์อื่นๆ ให้ความสนใจในเรื่องนี้มากขึ้น
ปัจจุบัน ฝันลูซิด (Lucid Dream) ได้ถูกวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งจริงจัง โดยริเริ่มจากที่นักจิตวิทยาอเมริกัน สตีเฟน ลาเบิร์ก (Stephen LaBerge) ที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับฝันลูซิด (Lucid Dream) อย่างลึกซึ้งยาวนาน จนในที่สุดก็ก่อตั้งสถาบัน The Lucidity Institute เพื่อค้นคว้าและพัฒนาเทคนิคที่จะช่วยบำบัดอาการป่วยไข้ทางจิตโดยความฝันหรือที่เรียกกันว่า ‘ฝันบำบัด’ (Lucid Dream Therapy) ในเวลาต่อมา
ฝันลูซิด (Lucid Dream) เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน แต่มักจะเริ่มต้นขึ้นจากคนที่สามารถจดจำความฝันได้อย่างแม่นยำอยู่บ่อยๆ และเมื่อมันเกิดขึ้นครั้งหนึ่งก็มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นอีก ที่สำคัญคือเป็นสิ่งที่สามารถ “ฝึกฝน” กันได้ด้วย
วิธีการควบคุม ฝันลูซิด (Lucid Dream)
1. หลับให้ลึก และหลับลึกให้ยาว
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคุณต้องพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายได้เข้าสู่ช่วงหลับลึกบ่อยๆ (จะได้ฝันบ่อยๆ นั่นเอง) การที่คุณมีช่วงเวลาหลับลึกที่ยาวนานมากขึ้นจะเพิ่มโอกาสให้มีฝันลูซิด (Lucid Dream)
2. ลองจดบันทึกความฝัน
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ฝันลูซิด (Lucid Dream) มักเกิดขึ้นกับคนที่สามารถจดจำความฝันตัวเองได้บ่อยๆ ดังนั้น ลำดับแรกคุณอาจจะลอง “จำ” มันให้ได้ก่อน อาจจะใช้วิธีจดไดอารีความฝัน เกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น การบันทึกคือการบังคับให้คุณจำกลายๆ สมองจะเริ่มตระหนักความสำคัญของการฝันไว้และคุ้นเคยกับมัน
3. เครื่องเช็กความจริง
เหมือนกับในหนัง Inception (2010) ถ้าหากคุณมีสัญญาณอะไรสักอย่างเพื่อที่จะเช็กว่าตัวเองกำลังฝัน หรืออยู่ในโลกความเป็นจริงและทำมันอยู่บ่อยๆ เช่น เอามือบีบจมูกและหายใจเข้า ถ้าทำได้แปลว่าอยู่ในความฝัน หรือมีสัญญาณอื่นๆ ที่คุณใช้กับตัวเองก็มีแนวโน้มว่าคุณจะรู้ตัวได้บ่อยขึ้น
4. จำลักษณะความฝัน
หลายคนฝึกฝนที่จะจดจำความฝันจะเริ่มสังเกตบางอย่างที่มักจะผิดไปจากความจริง เช่น เงาสะท้อนในกระจกไม่กลับด้าน นาฬิกาเดินแปลกๆ บางครั้งเราจะมีสิ่งของหรือสัญญาณที่จะปรากฏในฝันซ้ำๆ ถ้าหากจับสัญญาณเหล่านั้นได้ ก็มีแนวโน้มที่จะรู้ตัวมากขึ้น
5. ตื่นแล้วไปนอนใหม่
บางคนใช้วิธีการตื่นแล้วกลับไปนอนใหม่ (Wake back to bed : WBTB) โดยตั้งนาฬิกาให้ตัวเองตื่นหลังจากนอนได้ 5 ชั่วโมง เมื่อกลับไปนอนอีกครั้งก็มีแนวโน้มว่าจะเข้าสู่ช่วงหลับลึกโดยที่ยังมีสติมากกว่าเดิม
6. คุยกับตัวเองก่อนฝัน
นอกจากนี้ยังมีวิธีชี้นำ (Mnemonic induction of lucid dreams : MILD) คือบอกตัวเองก่อนนอนว่าคุณจะฝันอะไรและคุณจะมีฝันลูซิด (Lucid Dream) เพื่อย้ำให้สมองตระหนักว่าคุณฝันอยู่
ฝันลูซิด (Lucid Dream) ไม่ใช่แค่เรื่องที่ดูน่าสนุกและเป็นประสบการณ์ใหม่ การวิจัยเกี่ยวกับความฝันที่รู้ตัว ถูกนำไปช่วยในการบำบัดผู้ป่วยที่เป็นโรคเครียดและวิตกกังวลในจิตใต้สำนึกได้ นอกจากนี้ศิลปินและนักเขียนหลายคนประสบความสำเร็จอย่างสูงจากการหยิบเอาแรงบันดาลใจจากความฝันนี้มาสร้างเป็นผลงาน อาทิ ศิลปินกลุ่มเซอร์เรียลลิสต์ นักเขียน ก็ได้แรงบันดาลใจในการสร้างผลงานชิ้นเอกของตนจากความฝันนี้เช่นกัน
ที่มา : https://www.wurkon.com/blog/45-lucid-dream?fbclid=IwAR3PVx18W2q-sJZz0qYA_X5_HVWRfLS9ER4jo9QUGS4XXoInybqi4bIBjzQ
หนังสือ a field guide to lucid dreaming
https://www.medicalnewstoday.com/articles/323077