ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

หอสมุดเนียลเซน เฮส์ ขึ้นแท่นมรดกทางวัฒนธรรมจากยูเนสโก

สังคม
7 ธ.ค. 65
15:56
404
Logo Thai PBS
หอสมุดเนียลเซน เฮส์ ขึ้นแท่นมรดกทางวัฒนธรรมจากยูเนสโก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หอสมุดเนียลเซล เฮส์ ได้รับรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี พ.ศ. 2565 (UNESCO Cultural Heritage Conservation Award 2022) ประเภท Award of Distinction จากการประกาศล่าสุดขององค์การยูเนสโก

น.ส.นลิน วนาสิน ประธานคณะกรรมการบริหารสมาคมหอสมุดเนียลเซน เฮส์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2565 ที่ผ่านมา องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ประกาศให้หอสมุดเนียลเซน เฮส์ ได้รับรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี พ.ศ. 2565 (UNESCO Cultural Heritage Conservation Award 2022) ประเภท Award of Distinction

ซึ่งมอบให้แก่โครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นเลิศในทุกด้าน และก่อให้เกิดผลที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในระดับชาติ หรือ ระดับภูมิภาค โดยคณะกรรมการตัดสินของยูเนสโก กล่าวเชิดชูเกียรติหอสมุดเนียลเซน เฮส์ ว่า เป็นโครงการที่อนุรักษ์ความโดดเด่นของสถาปัตยกรรมตะวันตกในยุคต้นศตวรรษที่ 20 ไว้ได้อย่างกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมในโลกตะวันออก

อาคารหอสมุดเนียลเซน เฮส์ เป็นสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิคที่ออกแบบโดย มารีโอ ตามัญโญ สถาปนิกชาวอิตาเลียน เปิดดำเนินการในปี พ.ศ.2465

เป็นหอสมุดชุมชนที่รวบรวมหนังสือภาษาอังกฤษแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นหอสมุดแห่งแรก ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เปิดดำเนินการโดยสมาคมสตรีด้วย

นอกจากความงดงามเชิงสถาปัตยกรรม ภายในตัวอาคารยังออกแบบผนังสองชั้นเพื่อช่วยให้มีอากาศถ่ายเท จึงช่วยเรื่องการเก็บรักษาหนังสือได้เป็นอย่างดีในยุคที่ยังไม่มีเครื่องปรับอากาศ 

สำหรับการประกวดรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี พ.ศ.2565 มีโครงการส่งเข้าพิจารณาจำนวนทั้งสิ้น 50 โครงการ จาก 11 ประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

โดยมีโครงการที่ได้รับรางวัล 13 โครงการ จาก 6 ประเทศ ได้แก่ อัฟกานิสถาน จีน อินเดีย อิหร่าน เนปาล และประเทศไทย อาทิ

- The Chhatrapati Shivaji Maharaj Vastu Sangrahalaya พิพิธภัณฑ์ในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย
- Topdara Stupa สถูปหินในเมืองชาริการ์ ประเทศอัฟกานิสถาน
- Natian Buddhist Temple วัดในมณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงหอสมุดเนียลเซน เฮส์ ประเทศไทย

หอสมุดเนียลเซน เฮส์ แหล่งความคลาสสิกสมัยใหม่

- แม้จะเปิดมาครบ 100 ปีแล้ว แต่หนังสือจำนวนมากในหอสมุดนี้กลับแทบไม่ได้รับความเสียหายใดๆเลย เนื่องจากการวางแผนที่ดีในช่วงก่อสร้าง

- ลักษณะการออกแบบหอสมุด คล้ายคลึงกับ สะพานมัฆวานรังสรรค์ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระที่นั่งอภิเษกดุสิตในพระราชวังดุสิต วังบางขุนพรหม ตำหนักปารุสกวัน ตำหนักจิตรลดา สะพานผ่านฟ้าลีลาศ พระที่นั่งราชฤทธิ์รุ่งโรจน์ พระที่นั่งอนันตสมาคม และพระราชวังพญาไท เนื่องจากผู้ออกแบบเป็นคนเดียวกัน

- เคยปิดทำการ 2 ปี (ในช่วงการระบาดของโควิด-19) เพื่อทำการบูรณะครั้งใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นการบูรณะครั้งแรกนับจากสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 

- ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2525 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

- หอสมุดเนียลสัน เฮย์ส เปิดบริการ วันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 09.30-17.00 น.

จากห้องสมุดสตรีกรุงเทพฯ สู่ หอสมุดเนียลสัน เฮย์ส

แรกเริ่ม คลังหนังสืออายุ 100 ปีแห่งนี้ เริ่มต้นจากการเป็นห้องสมุดเล็กๆที่ชื่อว่า สมาคมห้องสมุดสตรีกรุงเทพฯ (The Bangkok Ladies’ Library Association)

วันหนึ่ง เจนนี เนียลเซน (Jennie Neilson) ได้เดินทางเข้ามาเป็นมิชชันนารีในไทย และแต่งงานกับ นพ.โทมัส เฮย์วอร์ด เฮส์ (Thomas Heyward Hays) หรือ "หมอเฮส์" ตามที่คนไทยสมัยนั้นชอบเรียก

หลังจากแต่งงาน เจนนี ก็เข้ามาทำงานให้กับสมาคมห้องสมุด เจนนีอุทิศตัวให้กับการทำกิจกรรมมากมายเพื่อให้ห้องสมุดสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ยาวนานกว่า 25 ปี ก่อนจะเสียชีวิตไป 

"หมอเฮส์" จึงตัดสินใจซื้อที่ดินบริเวณนั้น และจ้างนักออกแบบชาวอิตาเลียนเข้ามาสร้างเป็นคลังเก็บสมุด-หนังสือ และใช้เป็นสถานที่ค้นคว้าหาความรู้ให้แก่ประชาชนในยุคนั้น และตั้งชื่ออนุสรณ์สถานแห่งความรักว่า "หอสมุด เนียลเซน เฮส์"

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง