วันนี้ (7 ธ.ค.2565) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์เชื้อก่อโรคโควิด-19 ระหว่างวันที่ 26 พ.ย.-2 ธ.ค.ที่ผ่านมา ผลการตรวจแบบ SNP/Deletion จำนวน 435 คน พบว่าในภาพรวมสัดส่วนของสายพันธุ์ BA.2.75 เพิ่มขึ้นเป็น 75.9% จากสัปดาห์ก่อน ที่มีสัดส่วน 58.9%
เมื่อแยกตามกลุ่ม พบว่า ในกลุ่มผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 60.1% เป็น 75.4% ทำให้ขณะนี้ สายพันธุ์ BA.2.75 กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศแทนที่สายพันธุ์ BA.5
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า จากการถอดรหัสพันธุกรรมแบบทั้งตัว ของตัวอย่างในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน พบสายพันธุ์ BA.2.75 และลูกหลานของ BA.2.75 เช่น BA.2.75.2, BA.2.75.5.1 (BN.1), BA.2.75.1.2 (BL.2), BA.2.75.3.4.1.1.1.1 (CH.1.1) มากกว่า 856 คน
นอกจากนี้ยังพบสายพันธุ์ BQ.1 ที่ระบาดในอเมริกาและยุโรป จำนวน 13 คน ส่วนสายพันธุ์ XBB และลูกหลาน ที่ระบาดมากในสิงคโปร์ พบจำนวน 30 คน
ส่วนสายพันธุ์ XBC ซึ่งเป็นสายพันธุ์ลูกผสมของเดลตาและโอมิครอน BA.2 ที่มีข่าวระบาดในประเทศฟิลิปปินส์ พบเพียง 1 คน
สัดส่วน BA.2.75 สอดคล้องตัวเลขติดเชื้อเพิ่ม
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เนื่องจากสายพันธุ์ที่ระบาดในไทยเกือบทั้งหมดเป็นสายพันธุ์โอมิครอน ไม่พบสายพันธุ์เดลตาแล้ว จึงมีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดการผสมกันเป็นสายพันธุ์ลูกผสมของเดลตา และโอมิครอนขึ้นภายในประเทศ หากไม่พบว่าแพร่ได้เร็วก็จะหายไปในที่สุด
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สำหรับสายพันธุ์ BA.2.75 มีการ กลายพันธุ์อย่างหนึ่งที่สำคัญ คือ G446S บนโปรตีนหนาม ซึ่งจับกับตัวรับในเซลล์ของมนุษย์ และเกี่ยวข้องกับการหลบภูมิคุ้มกัน
สถานการณ์ในประเทศที่มีสัดส่วน ของสายพันธุ์ BA.2.75 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นสายพันธุ์หลักแทนที่ BA.5 บ่งชี้ว่ามีข้อได้เปรียบในการแพร่ระบาด เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้พบผู้ติดเชื้อในประเทศ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ และทำให้ผู้ที่เคยติดเชื้อสายพันธุ์ก่อนหน้า สามารถป่วยซ้ำได้อีกทั้งนี้ยังไม่พบสัญญาณความรุนแรงของเชื้อที่กลายพันธุ์
ทั้งนี้การรักษาสุขอนามัย รวมถึงการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังจำเป็น โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มสุดท้าย นานเกิน 4 เดือน ขอให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น สามารถลดโอกาสติดเชื้อ และลดอาการรุนแรง