วันนี้ (8 พ.ย.2565) นายชวน หลีกภัย ประธานสภา ชี้แจงกรณีองค์ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ด้วยมีกฎหมายที่อยากให้สังคมรับทราบว่า มีร่างกฏหมายที่มีความจำเป็นและสำคัญที่จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ เช่น ร่าง พ.ร.บ. ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือ ร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นเรื่องด่วน ครม.ส่งมา และรวมกับร่างกฎหมายฉบับอื่นรวมแล้วกว่า 10 ฉบับ โดยย้ำว่าหากรัฐบาลต้องการให้กฎหมายผ่านต้องดูแลเรื่ององค์ประชุมเพราะไม่เช่นนั้นจะไปไม่ถึง แต่ก็เชื่อเวลาที่เหลือของสภา 2 เดือน นั้นเพียงพอหากองค์ประชุมไม่มีปัญหา
ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้นัดประชุมเพิ่มเติมในวันศุกร์ที่ 16 ธ.ค. จากนั้นก็จะไม่ได้นัดวันศุกร์ไปจนถึงช่วงปีใหม่ และจะหารือวิปทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อเคลียร์วาระการพิจารณา พร้อมกันนี้เปิดเผยว่าได้ปรึกษานายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ในฐานะรัฐบาล ให้ขอเป็นคนกลางประสานพรรครัฐบาลให้หน่อย ขอความร่วมมือร่วมการประชุมสภาฯ เพราะการประชุมสภาเป็นหน้าที่ของทุกฝ่าย แต่กลไกระบบนี้รัฐบาลเสียงข้างมากต้องคุมเสียงให้พิจารณาไปได้ แจ้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีแต่ละพรรคแจ้งสมาชิกประชุม
ทั้งนี้จะหากมีการยุบสภาหรือไม่ยุบสภา มีเวลา 28 ก.พ.2566 ซึ่งขณะนี้ญัตติของฝ่ายค้านก็ยังไม่ได้เสนอมา ซึ่งวาระของการประชุมรัฐสภาตอนนี้จบแล้ว ล่าสุดโหวตร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปลดล็อคท้องถิ่น แต่มีอีกฉบับโดยยังอยู่ในขั้นตอนการหากลุ่มสนับสนุน ก่อนจะย้ำขอความร่วมมือทุกฝ่าย ในการให้ความร่วมมือการประชุม เพราะเวลาเป็นของมีค่าที่จะใช้ระยะเวลาที่เหลือทำงานด้านกฎหมายให้ประชาชน โดยหวังได้รับความร่วมมือระดับดีกว่าที่ผ่านมา เพราะที่ผ่านมายอมรับยากทำให้องค์ประชุมครบ
นายชวน กล่าวว่า องค์ประชุมสภาล่มไม่ใช่เกมการเมืองในสภาเพื่อยื้อร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง แต่เป็นเรื่องที่ฝ่ายค้านไม่ร่วมเป็นองค์ประชุมในการโหวตมาตรา 9/1 ร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พร้อมยอมรับว่าในการแสดงตนองค์ประชุมเมื่อวานนี้ (7 ธ.ค.) ตนเองก็ลืมกดบัตรแสดงตนเช่นกัน
ขอสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่าย่อท้อเพราะเชื่อว่ายังมีเวลาเพียงพอที่จะทำงาน และในสัปดาห์ต่อ ๆ ไปขอให้รับผิดชอบมาร่วมประชุม
และเชื่อว่าปัญหาองค์ประชุมล่มไม่ได้มีเหตุมาจาก ส.ส.โดดประชุม ทำพื้นที่พบชาวบ้านหาเสียง และเปิดเผยว่าสมาชิกบางคนไปภารกิจต่างประเทศ แต่ก็มีสมาชิกบางคนไม่ทราบหายไปไหนมีทุกพรรค แต่ทั้งนี้หากมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญและต้องเปิดการประชุมวิสามัญก็สามารถทำได้ ซึ่งจะต้องเปิดในช่วงเดือน มี.ค.2566 แต่ส่วนตัวประเมินว่าขนาดการประชุมสามัญธรรมดาการประชุมยังครบองค์ประชุมยาก
ประธานสภา กล่าวว่า สภายุคนี้ต่างจากสมัยก่อนที่นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในฐานะเสียงข้างมาก แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีเลยผู้ใหญ่ที่เป็นหลักในสภา หมายถึงผู้บริหารระดับสูงไม่มีนายกรัฐมนตรี ไม่มีรองนายกรัฐมนตรี มอบแต่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมาดูแล ซึ่งก็ดูแลไม่ทั่วถึง ในสภาฯ ขณะนี้จึงต้องทำหน้าที่กันเอง
ประธานสภาและรองประธานสภาต้องหารือกันเองแทนที่จะเป็นฝ่ายบริหารเข้ามาดูแล ก็ทำให้ไม่เหมือนสมัยก่อน โดยหวังว่าเมื่อแจ้งรองนายกฯวิษณุไปแล้วหวังว่าจะแจ้งต่อนายกรัฐมนตรีรับทราบเพื่อให้เรียกหัวหน้าพรรคทั้งหลายมาหารือว่าแต่ละพรรคต้องกำชับลูกพรรค
นอกจากนี้ยังเปิดเผยว่าร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งทั้ง 2 ฉบับคือ ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมืองและ ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ได้ส่งไปยังนายกรัฐมนตรีแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา และตามกระบวนการของกฎหมายนายกรัฐมนตรีมีเวลา 5 วัน ก่อนที่จะนำร่างขึ้นสู่กระบวนการประกาศบังคับใช้