ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"กาตาร์" ปฏิเสธติดสินบนสมาชิกรัฐสภายุโรป

ต่างประเทศ
12 ธ.ค. 65
19:50
497
Logo Thai PBS
"กาตาร์" ปฏิเสธติดสินบนสมาชิกรัฐสภายุโรป
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รัฐสภายุโรปกลไกฝ่ายนิติบัญญัติของสหภาพยุโรปกำลังเผชิญวิกฤตศรัทธาครั้งใหญ่ หลังรองประธานรัฐสภาและสมาชิกอีก 3 คน ถูกตั้งข้อหารับสินบนจากประเทศในกลุ่มอ่าวอาหรับ ส่งผลต่อการตัดสินใจทางการเมือง เศรษฐกิจ ของรัฐสภายุโรปมานานหลายเดือน

ข้อกล่าวหารับสินบนของสมาชิกรัฐสภายุโรป 4 คน กลายเป็นกรณีทุจริตอื้อฉาวครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ ยังสั่นสะเทือนความน่าเชื่อถือของรัฐสภายุโรปในฐานะสถาบันทางการเมืองที่ทรงอิทธิพลระดับโลกด้วย

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจเบลเยียมระดมเจ้าหน้าที่เปิดปฏิบัติการตรวจค้นบ้านพัก 16 หลัง ทั่วกรุงบรัสเซลส์ หลังจากสำนักงานตำรวจฝ่ายคดีเบลเยียมสงสัยว่า ประเทศในกลุ่มอ่าวอาหรับพยายามครอบงำการตัดสินใจด้านเศรษฐกิจและการเมืองของรัฐสภายุโรป ด้วยการมอบเงินและของกำนัลให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงมานานหลายเดือน

เจ้าหน้าที่ยึดของกลางเป็นเงินสดมูลค่า 600,000 ยูโร หรือ กว่า 21,900,000 บาท คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ นอกจากนี้เอวา ไกลี รองประธานรัฐสภายุโรปชาวกรีกและผู้ต้องสงสัยอีก 3 คน ยังถูกควบคุมตัวไปสอบปากคำด้วย

กลุ่มผู้ต้องสงสัยทั้ง 4 คน ถูกตั้งข้อหามีพฤติกรรมเข้าข่ายพัวพันกับองค์กรอาชญากรรม การฟอกเงินและการทุจริต แหล่งข่าวใกล้ชิดกับคดี ระบุว่า ประเทศในกลุ่มอ่าวอาหรับ คือ กาตาร์ เจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในปีนี้

ขณะที่โฆษกรัฐบาลกาตาร์ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาและยืนยันว่าหน่วยงานรัฐปฏิบัติตามกฎหมายสากลทุกประการ

เอวา ไกลี ถูกระงับการใช้อำนาจและการทำหน้าที่ในฐานะรองประธานรัฐสภาและสมาชิกรัฐสภายุโรปโดยให้มีผลทันที ขณะที่ พรรคสังคมนิยมสายกลาง PASOK ของกรีซออกแถลงการณ์ขับไกลีออกจากทุกตำแหน่งในพรรคการเมือง

นักการเมืองหญิงวัย 44 ปี ถูกจับตามองมากเป็นพิเศษ เพราะนั่งเก้าอี้รองประธานรัฐสภาด้านกิจการตะวันออกกลาง นอกจากนี้ยังเคยยกให้กาตาร์เป็นผู้นำด้านสิทธิแรงงานในสุนทรพจน์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในการแข่งฟุตบอลโลก

การแสดงความคิดเห็นของรองประธานรัฐสภายุโรปเกิดขึ้นท่ามกลางความกังวลต่อสถานภาพแรงงานข้ามชาติ หลังจากกาตาร์ตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อแรงงานในการก่อสร้างสนามกีฬาอย่างไม่เป็นธรรม

เมื่อปีที่แล้ว หนังสือพิมพ์ The Guardian เปิดเผยว่า แรงงานกว่า 6,500 คน จากประเทศในแถบเอเชียใต้เสียชีวิต ตลอด 12 ปี ที่ผ่านมา นับตั้งแต่กาตาร์คว้าสิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลก 2022 ขณะที่ประธานจัดฟุตบอลโลก 2022 ยืนยันว่า จำนวนแรงงานที่เสียชีวิตในโครงการก่อสร้างฟุตบอลโลกมีเพียง 3 คน

กาตาร์ได้ใช้เวลา 10 ปี ในการสร้างสนามกีฬาใหม่ 7 แห่งและระบบโครงสร้างพื้นฐานมากกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แรงงานข้ามชาติจำนวนมากผชิญกับการจ่ายค่าจ้างที่ล่าช้า การทำงานท่ามกลางสภาพอากาศร้อน และการถูกนายจ้างข่มขู่

ขณะที่รายงานของสำนักข่าว Politico ตั้งข้อสังเกตว่า กาตาร์ถือเป็นประเทศผู้ผลิตแก๊สธรรมชาติรายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก วิกฤตพลังงานที่ผลมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้กาตาร์ถือแต้มต่อในฐานะแหล่งพลังงานทางเลือกของชาติตะวันตก
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง