ใกล้จะถึงปีใหม่แล้ว ตัวเลขที่หลายคนคุ้นเคยช่วง 7 วันอันตราย คือ ตัวเลขคนบาดเจ็บ และเสียชีวิต โดย ข้อมูลบูรณาการผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 3 ฐาน กระทรวงสาธารณสุข เปิดตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนน 5 ปี พบคนเสียชีวิต 96,230 คน เฉลี่ยปีละ 19,246 คนต่อปี ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ถูกเปิดเผยออกมา เพื่อสะท้อนให้เห็นสถานการณ์ความสูญเสียที่เกิดขึ้น และให้ประชาชนและหน่วยงานได้เฝ้าระวัง รวมถึงดำเนินมาตรการป้องกัน-แก้ไข
ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2565 พญ.ศิริรัตน์ สุวรรณฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยตัวเลขใหม่ที่น่าจับตามองมากขึ้นเป็นปีแรก นั่นคือ ตัวเลขความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน โดยมูลค่าความสูญเสียทั้งหมด 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2560 - 2564) พบว่า การเสียชีวิตอยู่ที่ 511,515 ล้านบาท การบาดเจ็บเล็กน้อย (OPD) 144,957 ล้านบาท การบาดเจ็บรุนแรง (IPD) 158,669 ล้านบาท การบาดเจ็บทั้งหมด 303,627 ล้านบาท และผู้พิการ 306,156 ล้านบาท
เฉพาะปี 2564 มูลค่าความสูญเสียจากการเสียชีวิตอยู่ที่ 90,135 ล้านบาท การบาดเจ็บเล็กน้อย (OPD) 26,580 ล้านบาท การบาดเจ็บรุนแรง (IPD) 29,071 ล้านบาท การบาดเจ็บทั้งหมด 55,652 ล้านบาท และผู้พิการ 56,093 ล้านบาท
การคำนวณนำยอดผู้เสียชีวิต และยอดผู้บาดเจ็บ และค่าสูญเสียจากความพิการมาคำนวณคูณกับค่าประมาณการที่ได้ผลการศึกษาของสำนักอำนวยความปลอดภัย กระทรวงคมนาคม จำแนกตามระดับความรุนแรง ซึ่งจะเป็นการประเมินค่าขั้นต่ำที่เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ
พญ.ศิริรัตน์ ระบุว่า ทุกปีจะมีประเด็นการเสียชีวิตเป็นหลัก ตามมาด้วยการบาดเจ็บ หรือพิการ แต่ประเด็นเศรษฐกิจเป็นอีกประเด็นที่เพิ่มเติมขึ้นมา เพราะนโยบายของประเทศมุ่งเน้นเรื่องเศรษฐกิจ ฉะนั้นจึงมีการนำมาผูกกัน เพื่อทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นหนึ่งเคส ส่งผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน และภาพรวมเศรษฐกิจประเทศด้วย
ทั้งนี้ หากคิดต่อรายในเขตกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัดนั้นแตกต่างกัน จากการศึกษานำจำนวนผู้เสียชีวิตมาคูณค่าใช้จ่ายต่อราย ซึ่งมูลค่าผู้เสียชีวิตตกอยู่ที่ 11 ล้านบาท ส่วนต่างจังหวัดตกอยู่ที่ 6 ล้านบาท ไม่รวมบาดเจ็บ ซึ่งตัวเลขนี้ถือเป็นค่าเฉลี่ยโดยรวม สุดท้าย ชีวิตทุกคนมีค่า และไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ "ทุกคนไม่ควรต้องสูญเสีย"
ขณะเดียวกัน ความสูญเสียที่เกิดขึ้นนั้น นับเป็นการสูญเสียมูลค่าในการผลิตด้วย เนื่องจากบุคคลที่เสียชีวิต บาดเจ็บ หรือพิการ เป็นกำลังของประเทศชาติที่สามารถพัฒนาประเทศ และหาเลี้ยงครอบครัวได้อีกมูลค่ามหาศาล แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุจะนำไปสู่ค่ารักษาพยาบาลทั้งฉุกเฉิน และเรื้อรัง รวมถึงค่าดำเนินากรต่าง ๆ เพื่อดำรงชีพ และความเสียหายด้านทรัพย์สิน รวมถึงความสามารถในการดำเนินชีวิตที่ต้องขาดหายไปจากการสร้างมูลค่าอย่างอื่นด้วย กระทบทั้งระดับบุคคล ครอบครัว ท้องถิ่นไปจนถึงระดับประเทศ
เมื่อมีตัวเลขออกมามากขึ้น คำถามที่ตามมา คือ การตระหนักถึงสถานการณ์เหล่านี้จะสะเทือนถึงการแก้ไขปัญหาหรือป้องกันเพื่อลดตัวเลขความสูญเสียได้อย่างไร แม้ที่ผ่านมาใน 2 ปีหลังการเดินทางของประชาชนจะลดน้อยลงเนื่องจากข้อจำกัดของโรคระบาด แต่ขณะนี้การเดินทางเริ่มกลับมาเพิ่มสู้งขึ้นอีกครั้ง ผู้คนเริ่มใช้จ่ายและออกท่องเที่ยว พญ.ศิริรัตน์ จึงประเมินว่า โอกาสในการเกิดอุบัติเหตุจะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันมากขึ้น กฎหมายแข็งแรง มาตรการป้องกันและรณรงค์ทั้งการลดความเร็วในเขตชุมชน การสวมหมวกกันน็อก ดื่มไม่ขับ หรือทางข้ามปลอดภัยก็จริงจังมากขึ้น โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตลดลง จากค่าเฉลี่ย 17,000 - 20,000 คนต่อปีให้ได้