ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"อียู" เดินเครื่องกระชับความสัมพันธ์ "อาเซียน"

ต่างประเทศ
15 ธ.ค. 65
20:37
674
Logo Thai PBS
"อียู" เดินเครื่องกระชับความสัมพันธ์ "อาเซียน"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การประชุมสุดยอดสหภาพยุโรป-อาเซียน สมัยพิเศษที่กรุงบรัสเซลส์ เกิดขึ้นท่ามกลางการแข่งขันอย่างขับเคี่ยวในด้านภูมิรัฐศาสตร์และสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน สหภาพยุโรปพยายามฟื้นฟูข้อตกลงในมิติต่างๆ กับอาเซียน หลังจากระงับข้อตกลงการค้าร่วมเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

สหภาพยุโรป (EU) พยายามแสวงหาความหลากหลายทางห่วงโซ่อุปทาน หลังจากสงครามในยูเครนทำให้ยุโรปเปราะบางอย่างมาก ความพยายามหวนกลับมากระชับสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้น สะท้อนให้เห็นจากการประกาศลงทุนมูลค่ากว่า 10,000 ล้านยูโร

การทุ่มเงิน 10,000 ล้านยูโร ในอีก 5 ปีข้างหน้า เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ Global Gateway หรือ "ประตูสู่โลก" เงินก้อนนี้จะถูกนำมาใช้ในการเปลี่ยนผ่านสีเขียวและการสร้างความเชื่อมโยงอย่างยั่งยืนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ยุทธศาสตร์ประตูสู่โลก มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งแวดล้อม สุขภาพและการศึกษา อียูตั้งเป้าทุ่มเงินลงทุนมูลค่าสูงถึง 300,000 ล้านยูโร ภายใน 6 ปี ตั้งแต่ 2021-2027 ในการสร้างความเชื่อมโยงทั่วโลก

การขยายอิทธิพลของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้อียูต้องขยับตัวหันมาสานสัมพันธ์กับกลุ่มอาเซียนมากขึ้น หลังจากทั้ง 2 ฝ่ายระงับการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี เมื่อปี 2009 เนื่องจากเป้าหมายแต่ละฝ่ายแตกต่างกันเกินไป

แต่การประชุมสมัยพิเศษอียู-อาเซียนในครั้งนี้ ปิดฉากลงในขณะที่การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรียังไม่มีความคืบหน้า

ขณะที่สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ย้ำว่าสมาชิกอาเซียนไม่ต้องการรอความช่วยเหลือจากอียูเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ผู้นำอาเซียนยังมีท่าทีไม่ยอมถูกบีบให้เลือกข้าง ท่ามกลางการแข่งขันอย่างขับเคี่ยวของชาติมหาอำนาจ

ข้อมูล EU in ASEAN ชี้ว่า อียูเป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของอาเซียนและอาเซียนเป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของอียู

ยุโรปมองอาเซียนเป็นแหล่งวัตถุดิบในภาคการผลิต และตั้งเป้ายกระดับการเข้าถึงตลาดที่กำลังเฟื่องฟูของภูมิภาค เนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา ส่งแรงกระเพื่อมต่อห่วงโซ่อุปทานของทวีปยุโรปโดยตรง ขณะที่จีนถือเป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดอันดับ 1 ของอียูและอาเซียน ทำให้อาเซียนไม่ต้องการเลือกข้างตามแรงกดดันของอียู

สำหรับสงครามรัสเซีย-ยูเครนถูกหยิบมาหารือในวงประชุม ท่ามกลางความคิดเห็นที่สวนทางกันของผู้นำแต่ละประเทศ เนื่องจากสิงคโปร์และอินโดนีเซียสนับสนุนชาติตะวันตก ในขณะที่เวียดนาม ลาวและไทยพยายามสงวนท่าทีมาโดยตลอด

ขณะที่แถลงการณ์ร่วมของที่ประชุมในครั้งนี้ ระบุว่า "สมาชิกส่วนใหญ่" ในที่ประชุมประณามการทำสงครามของรัสเซีย นอกจากนี้ยังแสดงจุดยืนสนับสนุนการเคารพอำนาจอธิปไตย เอกราชทางการเมืองและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน ส่วนท่าทีของที่ประชุมต่อช่องแคบไต้หวันถูกตัดออกไป เนื่องจากสมาชิกมีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับนโยบายจีนเดียว

แม้ว่าการประชุมสุดยอดสมัยพิเศษในครั้งนี้ จะช่วยยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจของทั้ง 2 ฝ่ายให้แน่นแฟ้นขึ้น แต่ความผันผวนของการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้การดำเนินความสัมพันธ์ของอียูและอาเซียนไม่ได้ราบรื่นเท่าที่ควร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง