วันนี้ (16 ธ.ค.2565) เพจเฟซบุ๊ก LOOK Myanmar รายงานว่า วานนี้ (15 ธ.ค.) เมื่อเวลา 18.30 น. มีลำแสงประหลาดบนท้องฟ้า มีการพบเห็นได้ในหลายพื้นที่ทั้งในรัฐสะกาย รัฐชิน รัฐฉาน และรัฐยะไข่ โดยลำแสงเหมือนวัตถุเคลื่อนที่แต่ไม่มีเสียง
ต่อมามีการเผยแพร่ข้อมูลจาก Myanmar Astronomy & Science Enthusiasts Society ซึ่งเป็นเว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์กเมื่อเวลา 20.30 น. ว่าแสงดังกล่าวเกิดจากขีปนาวุธพิสัยไกล Agni-5 ที่ยิงโดยอินเดีย
สรุปทดสอบยิงขีปนาวุธ Agni-V
ขณะที่ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ลำแสงที่ปรากฏเหนือท้องฟ้าเมียนมา เป็นการทดลองยิงขีปนาวุธพิสัยไกล Agni-V ข้ามทวีปของอินเดีย ไม่ใช่ดาวเคราะห์ชนโลก
การที่สามารถมองเห็นลำแสงลักษณะนี้ได้ระยะไกล เพราะบางครั้งอากาศข้างเคียงเกิดความร้อนจัด และเกิดการเรืองแสง ซึ่งภาพที่เป็นคลิปและภาพนิ่งจะเห็นลำแสงวิ่งอยู่ชัดเจน ไม่ใช่ลักษณะของดาวเคราะห์
ดร.ดร.ศรัณย์ กล่าวอีกว่า จากข้อมูลสอดคล้องกับสื่อที่รายงาน และอินเดียได้มีการประกาศพื้นที่เซฟโซนครอบคลุมอ่าวเบงกอล และจรวดพวกนี้เห็นด้วยยิงด้วยความสูง ภาพที่เห็นแบบนี้คุ้นตาสำหรับคนที่ดูท้องฟ้า ยืนยัน ไม่มีผลกระทบใดๆ
ภาพ: LOOK Myanmar
สอดคล้องกับการรายงานข่าวของสำนักข่าว aljazeera ที่รายงานโดยอ้างคำให้สัมภาษณ์ของนายปราลฮัด โจชิ รัฐมนตรีกระทรวงกิจการรัฐสภาว่า อินเดีย ประสบความสำเร็จในการทดสอบยิงขีปนาวุธพิสัยไกล ติดอาวุธนิวเคลียร์ Agni-V ซึ่งมีมีรัศมี 5,400 กิโลเมตรโดยถูกปล่อยจากทางตะวันออกของรัฐโอริสสา ของอินเดีย
การทดสอบยิงขีปนาวุธ Agni-V ท่ามกลางความตึงเครียดบริเวณพรมแดนกับจีนทั้งนี้อินเดีย ระบุว่า ก่อนการทดสอบได้ออกประกาศ และประกาศให้อ่าวเบงกอลเป็นเขตห้ามบินแล้ว
แต่ปรากฏว่ามีคนในเมียนมา รวมทั้งไทยที่อ้างว่าถ่ายลำแสงประหลาดดังกล่าวได้และเผยแพร่ในโลกออนไลน์ โดยสมาคมดาราศาสตร์ไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า รายงานแสงประหลาดบนท้องฟ้าเหนือเมียนมา และอินเดีย เมื่อช่วงหัวค่ำที่ผ่านมา คาดว่าเป็นขีปนาวุธพิสัยไกล Agni-V ทดสอบในรัฐโอริสสา อ่าวเบงกอล