วันนี้ (23 ธ.ค.2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อาสาสมัครกลุ่มแรกเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 “HXP GPOVac” ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) โดยวันนี้เป็นวันแรกของการเริ่มโครงการวิจัยระยะที่ 3 กับอาสาสมัคร 4,000 คน หลังจากมีการศึกษาวิจัยทางคลินิกระยะที่ 2 ในอาสาสมัคร 300 คน ซึ่งผลเป็นที่น่าพอใจ
การศึกษาวิจัยทางคลินิกระยะที่ 3 จะฉีดในรูปแบบเข็มกระตุ้น จำนวน 10 ไมโครกรัม เพื่อประเมินความปลอดภัยและความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยจะเปรียบเทียบกับวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ของแอสตราเซนเนกา
อาสาสมัครที่เข้ารับการฉีดวัคซีน ต้องฉีดวัคซีน 2 เข็มแบบชนิดเดียวกัน อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป สุขภาพแข็งแรง หากมีโรคประจำตัวต้องมีอาการคงที่ และไม่เคยติดเชื้อโควิดมาก่อนในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา โดย 14 วันหลังจากรับวัคซีนแล้ว จะเจาะเลือดอาสาสมัครเพื่อนำมาทดสอบระดับภูมิคุ้มกัน ก่อนจะสรุปผลยื่นขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุมัติใช้ในภาวะฉุกเฉินในช่วงกลางปี 2566
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ขอบคุณประชาชนและ อสม. ซึ่งถือเป็นผู้เสียสละ ทุ่มเทและอุทิศตน จึงต้องมาคารวะผู้กล้าเหล่านี้ พร้อมระบุว่าการทดลองวัคซีนครั้งนี้ทำให้การพัฒนาวิจัยวัคซีนเกิดผลสำเร็จ เกิดประโยชน์ต่อคนไทยและประเทศชาติ
รมว.สาธารณสุข ยืนยันว่า วัคซีนที่นำมาทดลองเป็นวัคซีนที่ปลอดภัย เพราะว่าเป็นวัคซีนเชื้อตาย และเชื่อมั่นว่าการวิจัยวัคซีนครั้งนี้จะช่วยสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศ และลดงบประมาณ การนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศได้อีกด้วย
สำหรับโครงการวิจัยวัคซีน HXP GPOVac อภ.เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่เดือน พ.ค.2563 ต่อมาเดือน มิ.ย. ได้รับไวรัสตั้งต้นและเริ่มวิจัยพัฒนากระบวนการผลิตวัคซีนต้นแบบ จากนั้นเดือน ต.ค. จึงเริ่มกระบวนการผลิต ก่อนจะได้ผลการศึกษาในสัตว์ทดลอง เมื่อเดือน ก.พ.2564 และเริ่มทดลองทางคลินิก ระยะที่ 1-2 และล่าสุดเริ่มศึกษาวิจัยระยะที่ 3 ในเดือน ธ.ค.2565
หากเป็นไปตามแผนที่วางไว้ หากวัคซีนได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. ให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินกลางปี 2566 วัคซีน HXP GPOVac จะถือเป็นวัคซีนฝีมือคนไทยชนิดแรกที่สามารถใช้ในประเทศได้