สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)จัดการประชุมนำเสนอผลการศึกษา “ภาระโรคและภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชาชนไทย : ชี้เป้าปัญหา จับตาแนวโน้ม ระบุมาตรการสำคัญลดคนไทยป่วย พิการ และเสียชีวิต” ร่วมกับ แผนงานพัฒนาดัชนีภาระโรค (Burden of Disease: BOD) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กระทรวงสาธารณสุข
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การประชุมผลการศึกษาภาระโรคและภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชาชนไทย พ.ศ. 2562 เป็นเวทีสื่อสารข้อมูล แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ระหว่างนักวิชาการ นักวิจัย ผู้กำหนดนโยบาย เครือข่ายนักวิชาการด้านการศึกษาภาระโรค เพื่อนำผลการศึกษาไปพัฒนานโยบายสุขภาพในระดับพื้นที่และระดับนโยบาย พัฒนารูปแบบองค์กรประเมินภาระทางสุขภาพที่มีความยั่งยืน
ขับเคลื่อนการพัฒนาดัชนีภาระโรค
นายณัฐพันธุ์ ศุภกา รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิชาการและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนแผนงานพัฒนาดัชนีภาระโรค (Burden of Disease: BOD) มาตั้งแต่ พ.ศ. 2554 ข้อมูลภาระโรค ถูกนำไปชี้สถานการณ์ความสำคัญปัญหาสุขภาพ และควบคุมป้องกันปัญหาสุขภาพของประเทศได้อย่างถูกต้อง ตรงตามหลักวิชาการ อีกทั้งเป็นข้อมูลสำคัญในการใช้ประเมินเทคโนโลยี และผลกระทบจากนโยบาย และมาตรการทางสุขภาพต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบัน สสส. มุ่งเน้นการขับเคลื่อนการพัฒนาดัชนีภาระโรคและภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ เพื่อสนับสนุนงานสร้างเสริมสุขภาพ ตาม 3 ยุทธศาสตร์ 1. การพัฒนาองค์ความรู้และศักยภาพนักวิจัยด้านการศึกษาภาระทางสุขภาพ 2. การพัฒนาและเชื่อมโยงเครือข่าย และ 3. การสื่อสารเพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์และขับเคลื่อนเชิงนโยบาย
ศ.เกียรติคุณ นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประธานกรรมการกำกับทิศแผนงานพัฒนาดัชนีภาระโรคแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียน ที่มีผู้เชี่ยวชาญสนใจในการทำผลการศึกษาภาระโรคและภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากร การนำเครื่องมือวัดปีสุขภาวะที่สูญเสียไปจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บของประชากร (Disability – adjusted Life Years : DALY) มาใช้ในการวัดสถานะสุขภาพของประชากรไทยแบบองค์รวม จะมีประโยชน์อย่างมากต่อการกำหนดทิศทางของนโยบายด้านสุขภาพของประเทศ เพราะมีความครอบคลุมถึงการมีชีวิตอยู่อย่างบกพร่องหรือพิการ และการสูญเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทำให้สามารถเปรียบเทียบขนาดของปัญหาสุขภาพ ที่มีความสำคัญของประชากรได้ในหน่วยเดียวกัน และยังคาดประมาณมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการตายและความพิการได้อีกด้วย
คนไทยมีแนวโน้มอายุเพิ่มขึ้น
ทพญ.กนิษฐา บุญธรรมเจริญ หัวหน้าคณะทำงานศึกษาภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทย พ.ศ. 2562 กล่าวว่า 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยมีแนวโน้มอายุเพิ่มขึ้น เพศชายจาก 70.5 ปี เป็น 71.7 ปี เพศหญิงจาก 77.3 เป็น 79.4 ปี ส่วน 3 อันดับแรกที่ทำให้คนไทยสูญเสียปีสุขภาวะ คือ อุบัติเหตุทางท้องถนน เบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง คิดเป็น 20% ของการสูญเสียทั้งหมด ปัจจุบันกลุ่มโรคที่เป็นสาเหตุหลักการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและอยู่อย่างทุพพลภาพ มากกว่า 60% ยังคงเป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)
5 ปัจจัย "คนไทย" ตายก่อนแก่
ปัจจัยเสี่ยงคนไทยตายก่อนวัยอันควร อันดับ 1 บุหรี่ เกิดจากการสูบบุหรี่/ยาสูบ และการได้ควันบุหรี่มือสอง อันดับ 2 ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง อันดับ 3 ระดับความดันโลหิตสูง เกิดโรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อันดับ 4 การดื่มแอลกอฮอล์ เชื่อมโยงกับอุบัติเหตุทางถนนจากการดื่มแอลกอฮอล์ ที่จัดเป็นการสูญเสียอันดับ 1 ในเพศชาย อันดับ 5 การบริโภคอาหารที่ไม่เพียงพอหรือไม่เหมาะสม
หากสามารถลดปัจจัยเสี่ยงทั้ง 5 อันดับแรกลงได้ จะช่วยลดการสูญเสียจากการตายก่อนวัยอันควร และการอยู่อย่างทุพพลภาพที่เป็นภาระของคนไทยทั้งประเทศต้องแบกรับได้ถึง 8-18 % ของการสูญเสียทั้งหมด โดยภาครัฐ ภาคเอกชน ต้องร่วมกันวางแนวทางมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดการสูญเสียปีสุขภาวะ คือ ปีที่มีสุขภาพดีของคนไทย